SCB EIC แนะผู้ประกอบการท่องเที่ยวขยายตลาดใหม่เพิ่มจำนวนนทท.-รายได้ สร้างจุดแข็งใหม่กระจายความเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 22, 2016 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิธาน เจริญผล ผู้อำนวยการคลัสเตอร์ธุรกิจบริการ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า การท่องเที่ยวไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโตอย่างชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่าในปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเติบโต 13% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 33.8 ล้านคน ซึ่งส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นราว 11% ต่อ GDP

นอกจากนี้ 10 ปีที่ผ่านมา โรงแรมและร้านอาหารมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยแบบเร่งตัว จาก 3% เป็น 8% ต่อปี ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกก็เร่งตัวเร็วขึ้นเช่นกัน จาก 1% เป็น 3% ต่อปี ซึ่งธุรกิจนี้ในบริเวณกรุงเทพฯ และแหล่งท่องเที่ยวหลัก ๆ ของไทยมีส่วนแบ่งรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 40% ในขณะที่ธุรกิจขนส่งและคมนาคมเติบโตในระดับ 5-6% ต่อปี

ส่วนในปี 60 SCB EIC คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเติบโตได้ราว 10% จากปีนี้ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ 37.3 ล้านคน โดยกลยุทธ์ในการเติบโตที่ยั่งยืนของการท่องเที่ยวไทยนั้นจะต้องไม่พึ่งพาตลาดเดิมมากเกินไป โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วน 30% ของจำนวนต่างชาติทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวชาวจีนจะมีจำนวนลดลงหลังจากที่ภาครัฐเริ่มปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญอย่างเข้มข้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนลดลงราว 500,000 คน

SCB EIC เชื่อว่า การเติบโตอย่างยั่งยืนของการท่องเที่ยวไทยไม่สามารถพึ่งพาตลาดเดิม ๆ ได้ตลอดไป จึงควรมองหาตลาดอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในด้านที่ไทยมีจุดแข็งอยู่แล้ว โดยอินเดีย และอินโดนีเซียนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพในตลาดการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนด้วยรายได้และจำนวนของชนชั้นรายได้ระดับปานกลางที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ยังมีโอกาสขยายตลาดใหม่ ๆ ทั้งจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มองหาบริการด้านสุขภาพที่ราคาถูกลง เช่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีความต้องการบริการด้านสุขภาพที่ดีกว่าในประเทศของตนเอง เช่น เมียนมา อีกทั้งตลาด MICE ที่ไทยน่าจะได้เปรียบมากในด้านของตลาดการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลและการจัดนิทรรศการต่างๆ

ขณะเดียวกัน การเสริมสร้างการท่องเที่ยวในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะด้านการสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น และการสร้างตลาดการท่องเที่ยวเชิงกีฬาจะช่วยส่งเสริมการเติบโตในระยะยาว ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์พิเศษกับกองถ่ายภาพยนตร์จากต่างประเทศ หรือการสนับสนุนการลงทุนสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ เช่น สวนสนุก สวนน้ำ รวมถึงการดึงงานกีฬาระดับโลกเข้ามาจัดที่ไทย ทั้งหมดนี้จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเพิ่มจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังช่วยกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาการท่องเที่ยวในด้านเดิม ๆ

โดยการมองหาและดึงดูดตลาดใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มเติม เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในด้านที่ไทยมีจุดแข็งอยู่แล้ว ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย และอินโดนีเซียนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพในตลาดการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนด้วยรายได้และจำนวนของชนชั้นรายได้ระดับปานกลางที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มีโอกาสขยายตลาดใหม่ ๆ ทั้งจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มองหาการบริการด้านสุขภาพที่ราคาถูกลง โดยเฉพาะชาวออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีความต้องการบริการด้านสุขภาพที่ดีกว่าในประเทศของตนเอง เช่น ชาวเมียนมา อีกทั้งตลาด MICE ที่ไทยน่าจะได้เปรียบมากในด้านของตลาดการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลและการจัดนิทรรศการต่าง ๆ

นอกจากนี้ภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมกันพัฒนาด้านอุปทานของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งในด้านบุคลากร การบำรุงรักษาแหล่งท่องเที่ยว และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งในมิติที่กว้างมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวไทยจะมีการเติบโตจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง แต่ประเทศไทยจะต้องคำนึงถึงคุณภาพเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยจากบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ในอดีตเคยมีความสามารถในการแข่งขันสูง และเติบโตได้ดีในฐานะฐานการผลิตที่สำคัญ แต่ปัจจุบันกลับเริ่มมีแนวโน้มที่ชะลอตัว และมีความเสี่ยงที่จะหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการเติบโตอย่างยั่งยืนของการท่องเที่ยวไทยต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องไปพร้อม ๆ กัน

สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ได้ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไปแล้วเป็นขยายตัว 3.2% จากประมาณการณ์เดิมที่ขยายตัว 3% หลังจากแนวโน้มการส่งออกมีการขยายตัวที่ดีขึ้น ขณะที่ปี 60 ประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.3% โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ดี ซึ่งคาดว่าการส่งออกในปี 60 จะขยายตัวได้ 1.5% จากปีนี้ที่คาดว่าหดตัวที่ 0.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ