นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลว่าคงไม่ส่งผลต่ออัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) มากนัก เพราะมีมูลค่าแค่หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้เกิดความเข้มแข็งเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต แต่น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในช่วงต้นปี เพราะคนกลุ่มนี้จะเร่งการใช้จ่ายเงิน ไม่ได้เก็บออมไว้
ส่วนกรณีที่ ครม.มีมติให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น คิดว่าเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการน่าจะรับได้ เพราะเป็นการพิจารณาที่มีเหตุผลและผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการไตรภาคีมาแล้ว และคงไม่ส่งผลกระทบในเรื่องต้นทุนการผลิตจนทำให้ต้องมีการปรับราคาสินค้า
"น่าจะรับได้เพราะไม่ได้ปรับมา 3 ปีแล้ว ปัจจุบันเชื่อว่าผู้ประกอบการจ่ายสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เพราะไม่ได้ปรับขึ้นมา 3 ปีแล้ว" นายเจน กล่าว
สำหรับข้อเสนอให้รัฐปรับลดการหักภาษี ณ ที่จ่าย (3%) นั้นมีนานแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับฐานภาษีเงินได้นิติบุคคลปรับลดลงจาก 30% มาอยู่ที่ 20% ซึ่งจะเป็นการเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น
"การลดภาระภาษีจะเป็นแรงกระตุ้นให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น ซึ่งคิดเป็นมูลค่าปีละหลายหมื่นล้านบาท ที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนให้กับผู้ประกอบการ" นายเจน กล่าว
ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า กรณีดังกล่าวอาจส่งผลให้เงินทุนหมุนเวียนของภาครัฐลดลง แต่เป็นเรื่องที่มีเหตุผลและเป็นธรรม เพราะเป็นเงินของผู้ประกอบการเอง
ส่วนกรณีว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีนโยบายจะยกเลิก TPP นั้น นายเจน กล่าวว่า รู้สึกโล่งใจมากขึ้นจากความกังวลว่าจะเสียเปรียบทางการค้ามาเลเซียและเวียดนาม ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีเวลาปรับตัวและพิจารณาข้อดี-ข้อเสียมากขึ้น
"ถึงอย่างไรข้อเสนอเหล่านี้เราคงต้องทำต่อไปในอนาคตตามข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็มีความพร้อม " นายเจน กล่าว
อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ชัดเจนอีกที ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินอะไรได้มากนัก เพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่เคยหาเสียงไว้จะนำไปสู่ภาคปฏิบัติหรือไม่
ด้านนายถาวร ชลัษเฐียร รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ กล่าวถึงภาพรวมนโยบายการปรับค่าจ้างและโบนัสปี 2559 โดยสำรวจความคิดเห็นจากสถานประกอบการ 535 แห่ง ในภาคอุตสาหกรรม 12 คลัสเตอร์ ระบุว่า จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างเฉลี่ย 4.17% ลดลงจาก 5.04% ในปีก่อน และจ่ายโบนัส 1.87 เดือน ลดลงจากปีก่อนที่จ่าย 2.34 เดือน โดยสถานประกอบการขนาดใหญ่จะมีเกณฑ์การปรับขึ้นค่าจ้างและจ่ายโบนัสสูงกว่าสถานประกอบการขนาดเล็ก
สำหรับข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 2558 รายงานว่า ประเทศไทยมีกำลังแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 6,184,926 คน จำแนกเป็น แรงงานวิชาชีพ 1,102,464 คน และแรงงานฝ่ายผลิต 5,082,462 คน และเมื่อคิดจากความต้องการกำลังคนเพิ่มขึ้น 4.48% พบว่า ประเทศไทยมีความต้องการกำลังคนในปี 2560 เพิ่มขึ้นและทดแทนคนเกษียณประมาณ 277,085 คน