รมว.คมนาคม ลงนามเยอรมนีพัฒนาความร่วมมือ-เทคโนโลยีระบบราง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 23, 2016 15:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในวันนี้ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ (Joint Declaration of Intent on the Further Development of the Cooperation in the Field of Railways) ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยนายเพเทอร์ พรือเกล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย

ความร่วมมือดังกล่าวจะเน้นด้านเทคโนโลยีสำหรับไทย-เยอรมัน เรื่อง 1. อุตสาหกรรมราง คือการผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆ จะมีผู้ผลิตในประเทศไทยจะเป็นส่วนหนึ่งห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain ) ของระบบราง คือการผลิตชิ้นส่วนก่อน ยังไม่รวมถึงการผลิตเป็นตัวรถ 2. มาตรฐานและเทคโนโลยีของผู้ให้บริการ 3. ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำและวางแผนงานพัฒนาระบบราง การสัมมนา การส่งบุคลากรไทยไปอบรม จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบราง กระทรวงคมนาคม มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย

"จึงไม่เหมือนความร่วมมือ ระหว่างไทย-จีน และไทย-ญี่ปุ่น ที่ชัดเจนว่าจะร่วมลงทุนในทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กรุงเทพ-นครราชสีมา และกรุงเทพ-เชียงใหม่"นายอาคม กล่าว

ทั้งนี้ ประเทศเยอรมนีให้ความสนใจประเทศไทย เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางมาก ซึ่งในแผนปฎิบัติการปี 2558-2560 จะมีการลงทุนระบบรางทั้งรถไฟฟ้าในเมืองรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ประมาณ 85% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด ซึ่งคุ้มค่าพอที่ต่อยอดการผลิตอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนด้านระบบรางต่างๆ ให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนได้ โดยเยอรมนีจะให้คำแนะนำศึกษาการลงทุน และที่ผ่านมา มีหลายบริษัทเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว เช่นรถไฟฟ้า BTS แอร์พอร์ตเรลลิงก์ MRT ใช้รถบริษัท ซีเมนส์ ซึ่งการพัฒนาระบบราง เป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างการเติบโตกับเศรษฐกิจตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้

นายอาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-หัวหิน,กรุงเทพ-ระยอง เป็นการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) นั้น เอกชนจะจับคู่กันมาลงทุน ซึ่งทางเยอรมนีสนใจและคงต้องหาพันธมิตรไทย

ส่วนเส้นทาง กรุงเทพ-หัวหิน ที่ผ่านมา ได้เริ่มพูดคุยกับรมต.คมนาคม ของมาเลเซียแล้วในการต่อเชื่อมต่อกับเส้นทาง กรุงเทพ-กัวลาลัมเปอร์ ซึ่งได้มอบให้คณะทำงานระดับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมและมาเลเซียหารือร่วมกัน จากนั้นฝ่ายนโยบายจะกำหนดขอบเขตของการทำงานร่วมกัน เพราะแนวเส้นทางยาว จะต้องศึกษาความเหมาะสม ซึ่งเห็นว่าควรศึกษาต่อยอดจากกรุงเทพ-หัวหิน มากกว่าทำเป็นแนวเส้นทางใหม่ ซึ่งต้องตกลงกันว่าจะแบ่งขอบเขตการศึกษาอย่างไร

รมว.คมนาคม ยังกล่าวถึงกรณีการโอนงานเดินรถสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ให้กรุงเทพมหานคร(กทม.) ว่า กทม.ยังติดปัญหาเรื่องการชำระหนี้ค่าก่อสร้างและค่าจัดสิทธิ์ที่ดินก้อนแรกประมาณ 3.5 พันล้านบาทว่า เรื่องนี้ยังอยู่ในการขั้นตอนการเจรจา ต้องดูรายละเอียดก่อน เมื่อโอนทรัพย์สินให้ กทม.แล้ว ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะต้องไม่มีภาระหนี้สินในโครงการนี้อีก ดังนั้น กทม.ต้องรับหนี้ไปด้วย ส่วนจะชำระหนี้สินอย่างไร กทม.สามารถเจรจากับคลังได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ