EXIM BANK ลุ้นส่งออกไทยปี 60 กลับมาโตเป็นครั้งแรกใน 5 ปี เหตุราคาน้ำมันโลกฟื้น-ตลาดใหม่ยังสดใส

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 24, 2016 12:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่าปี 60 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญดังนี้

1.Mega Projects ของภาครัฐเป็น Key Driver สำคัญที่จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนตาม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐหลายโครงการเริ่มก่อสร้างในปี 2560 อาทิ Motorway รถไฟฟ้าในเขตเมือง รถไฟฟ้ารางคู่ เป็นต้น ปัจจัยดังกล่าวส่งผลเชิงบวก (Crowding In Effect) ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยในระยะสั้นจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน และส่งผลดีต่อกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด อาทิ รับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นต้น ขณะที่ในระยะถัดไปการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กลับมาลงทุนมากขึ้น

2.ราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับฐานขึ้น โดยเฉพาะราคายางพารา อ้อย และผลไม้ที่มีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และหนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ผันผวนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกรในระยะถัดไป

3.โครงการรถคันแรกครบอายุถือครอง โครงการรถยนต์คันแรกที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งกำหนดให้ผู้ซื้อต้องถือครองรถยนต์ 5 ปีนับจากวันรับรถจึงจะได้สิทธิ์คืนภาษี ได้ทยอยหมดอายุลงตั้งแต่ปลายปี 2559 ทำให้ผู้ซื้อรถสามารถขายเปลี่ยนมือ หรือซื้อรถยนต์คันใหม่ได้ ปัจจัยดังกล่าวทำให้เงินจำนวนหนึ่งที่ผู้ซื้อเคยใช้ผ่อนรถจะถูกนำมาใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคด้านอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนได้อีกทางหนึ่ง

4.การท่องเที่ยวยังมีความสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ล่าสุดหลายฝ่ายคาดว่าในปี 2560 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยกว่า 37 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 33 ล้านคนในปี 2559 โดยนักท่องเที่ยวจีนยังเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่ยังขยายตัวสูง แม้จะชะลอลงบ้างในระยะสั้นจากการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ

5.ตลาดสินเชื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบยังมีอยู่อีกมาก สะท้อนจาก L/D Ratio ในไตรมาส 3 ปี 2559 อยู่ที่ 96.9% ซึ่งเป็นระดับที่เพียงพอในการสนับสนุนการฟื้นตัวของสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อครัวเรือนในระยะถัดไป

สำหรับในส่วนของการส่งออกปี 2560 น่าจะดีขึ้นจากปี 2559 และมีความเป็นไปได้สูงที่จะกลับมาขยายตัวได้ครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้ 1.ราคาน้ำมันฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด หลังจากปี 2559 เผชิญกับปัญหาอุปทานส่วนเกินอย่างมากภายหลังหลายประเทศกลับมาเพิ่มกำลังการผลิต โดยเฉพาะอิหร่านและอิรัก อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 สถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มคลี่คลายลงมากหลังจากการผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ ชะลอลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในระยะถัดไปเพิ่มขึ้น

ล่าสุด IMF คาดการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเฉลี่ยปี 2560 ที่ 50.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 43 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2559 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์และยางพารา ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 13% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย

2.การส่งออกไปตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะ CLMV และ New Frontiers ยังไปได้ต่อเนื่อง โดยได้อานิสงส์จาก กลุ่ม CLMV เป็นกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกที่ราว 7-8% ขณะที่สัดส่วนการส่งออกของไทยไป CLMV (ราว 10% ของมูลค่าส่งออกรวม) ขยับแซงหน้าตลาด EU และญี่ปุ่นแล้ว โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพในตลาด CLMV อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค และวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งกลุ่ม New Frontiers เป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยมูลค่าส่งออกของไทยไป New Frontiers ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาขยายตัวเฉลี่ยราว 10.5% ต่อปี สูงกว่าการส่งออกรวมที่ขยายตัวเฉลี่ย 6.8% ต่อปี

3. ฐานมูลค่าส่งออกปี 2559 อยู่ในระดับต่ำ นับตั้งแต่ปี 2556 มูลค่าส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่อง แม้ว่ามูลค่าส่งออกปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัว 0% หรืออาจพลิกกลับมาเป็นบวกเล็กน้อย แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนให้การส่งออกปี 2560 กลับมาขยายตัวได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่น่ากังวลสำหรับการส่งออกในปี 2560 ดังนี้ 1.นโยบายกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยทั้งแง่บวกและแง่ลบ โดยแง่บวกนั้น การยกเลิกข้อตกลง TPP ช่วยปิดจุดอ่อนข้อเสียเปรียบของไทยจากการได้แต้มต่อทางภาษีของหลายประเทศคู่แข่งสำคัญที่อยู่ใน TPP โดยเฉพาะเวียดนามที่เป็นคู่แข่งของไทยในหลายสินค้า อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า อาหารทะเลกระป๋อง เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ส่วนในแง่ที่เป็นได้ทั้งบวกและลบ คือ การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน จะเป็น โอกาส โดยสินค้าส่งออกของไทยที่เคยเป็นคู่แข่งกับจีนในตลาดสหรัฐฯ อาจแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดกลับมาได้บางส่วน อาทิ ยางล้อรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ อย่างไรก็ตาม อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบของไทยไปจีนเพื่อผลิตและส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ อาทิ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

2.Brexit ที่ยังมีความไม่แน่นอน ว่ากระบวนดังกล่าวจะเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ ประกอบกับการแยกตัวจะออกมาในรูปแบบใด ทั้งนี้ หลายฝ่ายคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นการแยกตัวแบบ Soft Brexit (UK ยังได้รับสิทธิ์ด้านภาษีในการเข้า Single Market ของยุโรปได้เหมือนเดิม) ซึ่งหากเป็นกรณีนี้ก็อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยไปตลาด EU และ UK ไม่มากนัก

3.ปัญหาหนี้ภาคเอกชนและภาคการผลิตส่วนเกินในจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหนักอาทิ เหล็กและถ่านหิน ปัจจัยดังกล่าวยังฉุดรั้งให้เศรษฐกิจจีนชะลอลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องมือทางการเงินและการคลังที่หลากหลายของรัฐบาลจีน ทำให้แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงแต่อยู่ในลักษณะ Soft Landing ทั้งนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2560 จะขยายตัว 6.2% ชะลอลงจาก 6.6% ในปี 2559 ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนในปี 2560 ยังมีทิศทางไม่แน่นอน

4.อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมากขึ้น จากการใช้นโยบายการเงินที่สวนทางกันของประเทศมหาอำนาจ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น EU และจีนยังใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ต้องจับตามองกระแส Nationalism ว่าจะส่งผลต่อการเลือกตั้งในเยอรมนีและฝรั่งเศสซึ่งจะมีขึ้นในปี 2560 มากเพียงใด ซึ่งหากมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองจะสร้างความผันผวนต่อตลาดเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระยะ ซึ่งผู้ส่งออกไทยจึงควรเตรียมเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงให้พร้อม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ