นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การลงทุนของรัฐวิสาหกิจในไตรมาส 3/59 ขยายตัว 10.5% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ 8.2% ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
ขณะที่ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจตั้งแต่เดือน ต.ค.58-ก.ย.59 อยู่ที่ 178,390 ล้านบาท หรือคิดเป็น 77.9% ของแผนงบลงทุนสะสม แบ่งได้ดังนี้
1. ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการตามปีงบประมาณในช่วง 1 ปี (ต.ค.58- ก.ย.59) เท่ากับ 90,661 ล้านบาท คิดเป็น 69.5% ของแผนงบลงทุนทั้งปี โดยรัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายเป็นไปตามแผนที่กำหนด ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.), และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าแผนที่กำหนด ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) , บมจ.ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (AOT) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
2. ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการตามปีปฏิทินในช่วง 9 เดือนของปี 59 (ม.ค.-ก.ย.59) เท่ากับ 87,729 ล้านบาท หรือคิดเป็น 88.9% ของแผนงบลงทุนสะสม โดยรัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายเป็นไปตามแผนที่กำหนด ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าแผนที่กำหนด ได้แก่ บมจ.ปตท. (PTT), บมจ.การบินไทย (THAI) และ บมจ.ทีโอที
นายเอกนิติ กล่าวว่า ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง ในเดือน ต.ค. เท่ากับ 16,677 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 25.2% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐวิสาหกิจที่เร่งรัดการเบิกจ่ายลงทุน ได้แก่ บมจ.ปตท., การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ขณะที่รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนที่ชะลอลง ได้แก่ การถไฟแห่งประเทศไทย, บมจ. การบินไทย และ บมจ.ทีโอที
ส่วนการเร่งลงทุนรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2559 วงเงิน 2.97 แสนล้านบาท มีการเบิกจ่ายได้ 1.78 แสนล้านบาท หรือ 77.9% โดยยังต้องรอยอดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจตามปีปฏิทินตอนสิ้นปี ซึ่งคาดว่าจะทำให้ยอดเบิกจ่ายเพิ่มเป็น 83% ซึ่งต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 95% เนื่องจากการเบิกจ่ายงบลงทุนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.), บมจ. ท่าอากาศยานไทย และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งมีงบลงทุนสูงแต่เบิกจ่ายได้น้อยประมาณ 50% ของงบลงทุนที่ได้รับการจัดสรร
สำหรับในช่วงไตรมาส 4/59 สคร.ได้เร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการตามปีปฏิทิน 59 ให้เบิกจ่ายให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2560 ที่มีกรอบวงเงินลงทุนสูงถึง 369,868 ล้านบาท โดยเฉพาะให้รัฐวิสาหกิจเลื่อนการลงทุนให้เร็วขึ้น (Front Load) และให้เน้นการเบิกจ่ายในไตรมาส 4/59 ให้มากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นายเอกนิติ กล่าวว่า งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 60 ที่ สคร. ดูแล มีจำนวน 3.7 แสนล้านบาท ซึ่ง สคร. จะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าหมาย 95% เนื่องจากมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีก 36 โครงการ วงเงินลงทุน 7.3 หมื่นล้านบาท ที่ยังสรุปรายละเอียดไม่ทันเพื่อบรรจุไว้เป็นแผนการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2560
โดยขณะนี้ สคร. ได้เร่งประสานกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาโครงการทั้งหมดให้ลงทุนได้ภายในปีงบประมาณ 2560 ตามนโยบายเร่งการลงทุนรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล
"ในส่วนของ 36 โครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจนั้น ได้มีการประสานกับสภาพัฒน์ เพื่อเร่งการดำเนินโครงการให้เร็วขึ้น โดยหากพิจารณาแล้วโครงการใดมีศักยภาพเพียงพอก็จะเลื่อนให้มีการลงทุนให้เร็วขึ้น (Front Load) เพื่อทำให้การใช้งบลงทุนมีประสิทธิภาพและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น" นายเอกนิติ กล่าว
พร้อมระบุว่า สคร. จะประสานกับคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ ให้ช่วยดูแลการเบิกจ่ายงบลงทุนเป็นพิเศษ โดยให้มีผลต่อการประเมินผลงานของผู้บริหารสูงสุดของแต่ละแห่งด้วย ซึ่งกรรมการแต่ละรัฐวิสากิจจะกำหนดเงื่อนไขการประเมินผู้บริหารเอง
ขณะที่การส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจในเดือน ต.ค.59 (เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560) อยู่ที่ 36,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ประมาณ 6,300 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2560 รัฐวิสาหกิจมีเป้าหมายในการจัดส่งรายได้อยู่ที่ 1.31 แสนล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็นไปได้ตามเป้าหมาย ส่วนปีงบประมาณ 2559 รัฐวิสาหกิจส่งรายได้ทั้งสิ้น 1.33 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1.3 หมื่นล้านบาท
สำหรับความคืบหน้าแผนการฟื้นฟูของรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง มีการดำเนินการได้ตามแผนที่ทำมา โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Bank และ บมจ.การบินไทย น่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งแรกที่ได้ออกจากแผนฟื้นฟู ซึ่งทาง สคร. จะขอเวลาพิจารณาอีก 3 เดือน ส่วนที่เหลืออีก 5 แห่ง คาดว่ายังต้องอยู่ในแผนฟื้นฟูต่อไป