นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ราคาข้าวเปลือก ที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวนั้น ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 10,500-11,000 บาท จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ตันละ 8,000-8,500 บาท ซึ่งการปรับตัวดีขึ้นของราคา เป็นผลจากมาตรการรับจำนำยุ้งฉางของรัฐบาล ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์เร่งผลักดันการส่งออก รวมถึงหลายหน่วยงานช่วยกันสั่งซื้อข้าวโดยตรงจากกลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์ จึงทำให้ปริมาณข้าวในตลาดลดลงมาก ซึ่งเชื่อว่าแนวโน้มราคาข้าวจะสูงขึ้นได้อีกแน่นอน
ด้านนายวิชัย ศรีนวกุล อดีตอุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย และประธานชมรมโรงสีข้าวภาคอีสาน กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิในสัปดาห์นี้ยังทรงตัวต่อจากสัปดาห์ก่อน โดยวิตกว่าราคาอาจลดลงได้อีก เพราะสภาพอากาศที่แปรปรวนจากร้อนสลับฝนตก ทำให้คุณภาพข้าวเปลือกด้อยลง
"เมื่อสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารแล้ว ได้ต้นข้าวหรือเมล็ดข้าวสารน้อย ทำให้ราคารับซื้อไม่ดีนักแม้ความชื้นดีขึ้น คืออยู่ไม่เกิน 20-22% ราคารับซื้อจึงได้เพียงตันละ 8,500-9,000 บาท ดังนั้นคงต้องรอดูภาวะอากาศอีก 4-5 วัน หากยังไม่ดีขึ้น อาจกระทบต่อราคาข้าวเปลือกแน่นอน" นายวิชัย กล่าว
สำหรับราคาข้าวสารหอมมะลิยังอยู่ที่ตันละ 19,000-20,000 บาท เพราะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อสต็อกข้าวช่วงปีใหม่ถึงช่วงตรุษจีน ทำให้ผู้ส่งออกหาซื้อข้าวเพิ่มเพื่อส่งออกให้ทันเดือนธ.ค.นี้ จึงมีการแย่งซื้อข้าวสาร ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าลง 30-40 สตางค์/ดอลลาร์ เฉลี่ยมาอยู่ที่ 35.50 บาท/ดอลลาร์ หรือส่งออกข้าวได้เงินบาทเพิ่มขึ้นตันละ 300 บาท ส่วนข้าวเปลือกเหนียวแนวโน้มราคายังดีและราคาเกินตันละ 11,000 บาท
ส่วนราคาข้าวขาว (5%) ขยับขึ้นจากตันละ 10,800-11,000 บาทในสัปดาห์ก่อน มาเป็นตันละ 11,500-11,800 บาท เพราะตลาดมีความต้องการสูง และแย่งกันซื้อ ทำให้ปริมาณข้าวในตลาดลดลง ส่วนหนึ่งอาจเพราะชาวนานำข้าวมาตากแห้ง เพื่อเข้าร่วมโครงการจำนำยุ้งฉางของรัฐบาล
ขณะที่นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ อดีตเลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวทุกชนิดปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ราคาได้ลงไปถึงจุดต่ำสุดแล้ว อย่างไรก็ดี เป็นห่วงว่ามาตรการดูดซับผลผลิตออกสู่ตลาดจะทำให้คุณภาพข้าวลดลง ซึ่งคุณภาพข้าวมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดราคารับซื้อ ทำให้ชาวนาอาจไม่ได้ราคาสูงอย่างที่ควรจะได้รับ ขณะเดียวกันการชะลอขายข้าวก็ทำให้ไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา ตลาดจึงยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ เห็นว่ารัฐบาลควรเร่งหาตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ เพราะข้าวชนิดอื่นมีตลาดในประเทศรองรับอยู่แล้ว