นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า กอช. เป็นแหล่งออมของแรงงานนอกระบบเพื่อเตรียมความพร้อมในการมีชีวิตอยู่ยามชราภาพ จึงเดินหน้าประชาสัมพันธ์ ผลักดันให้มีการสร้างสมาชิกและส่งเสริมให้มีการออมอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ออกสโลแกน “กอช. ออมสบาย ได้บำนาญ" เพื่อให้เป็นที่จดจำของประชาชน อีกทั้งยังบ่งบอกถึงความเป็น กอช.ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ภายใต้คำว่า "สบาย" มีความหมายซ่อนอยู่ ดังนี้
ส มาจากคำว่า "สมทบ" หมายถึง สมาชิกจะมีสิทธิได้รับเงินสมทบจากรัฐสูงสุดถึง 100% โดยจะสมทบเพิ่มให้ในรูปแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ (สำหรับผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป รัฐจะสมทบให้ 100% ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี)
บ มาจากคำว่า "บำนาญ" หมายถึง เมื่อสมาชิกสะสมเงินจนครบกำหนดและมีเงินในจำนวนที่มากพอ สมาชิกจะมีโอกาสในการรับเงินบำนาญไปจนกว่าจะเสียชีวิต
สระ อา มาจากคำว่า "การันตี" หมายถึง การออมเงินกับ กอช. รัฐบาลจะค้ำประกันผลตอบแทนไม่ให้ต่ำกว่าดอกเบี้ยประจำ 12 เดือน เฉลี่ยของ 7 ธนาคาร (ธนาคารออมสิน ธกส. และธนาคารพาณิชย์ใหญ่อีก 5 แห่ง)
ย มาจากคำว่า ยืดหยุ่น ข้อนี้มีความหมายตรงตัวและเหมาะสำหรับผู้เป็นแรงงานนอกระบบ มีอาชีพอิสระซึ่งรายได้ไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร พ่อค้าแม่ค้า ตลอดจนผู้มีอาชีพรับจ้างทั่วไป เพราะ กอช.ไม่ได้บังคับให้สมาชิกต้องออมทุกเดือน รวมถึงไม่มียอดเงินบังคับส่งต่อเดือนอีกด้วย ทั้งนี้ในหนึ่งปี (เดือน ม.ค. – ธ.ค.) สมาชิกสามารถออมเงินได้สูงสุดคนละ 13,200 บาท
นายสมพร กล่าวว่า กอช. ยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อจะเป็นหนึ่งในเสาหลักที่ส่งเสริมการออมเพื่อสร้างหลักประกันบำนาญพื้นฐานให้แก่ประชาชนคนไทยไปพร้อมกับการพัฒนาด้านการบริการ เพิ่มการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกในทุกรูปแบบให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
"จึงอยากเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้เป็นแรงงานนอกระบบมาออมเงินกับ กอช. ตั้งเป้าหมายในการออมให้กับตัวเองโดยเริ่มเก็บออมตั้งแต่วันนี้ ออมตามกำลังที่มี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเองในยามชราภาพ รอรับเงินบำนาญตลอดชีวิต ดีกว่าให้เกิดเหตุสลดเงินหมดก่อนตาย" เลขาธิการ กอช. ระบุ