นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงการปรับขึ้นค่าแรงงานอีกวันละ 5-10 บาท ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ม.ค.60 จากการศึกษาโครงสร้างต้นทุนราคาสินค้านั้น พบว่าสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชนได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย โดยในภาพรวมแล้วจะทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้นเพียง 0.01-1.02% เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เหตุที่ทำให้ผู้ผลิตจะอ้างปรับขึ้นราคาสินค้าแต่อย่างใด
ตัวอย่างเช่น อาหารปรุงสำเร็จ หากราคาจานละ 35 บาท จะทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียง 0.31-0.57% หรือจานละ 11-12 สตางค์เท่านั้น, นมยูเอชทีกล่องละ 12 บาท ต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียง 0.04-0.07% หรือกล่องละ 0.004-0.008 บาท หรือขึ้นไม่ถึง 1 สตางค์
ผงซักฟอกถุงละ 63 บาท มีผลกระทบทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 0.07-0.13% หรือเพิ่มขึ้นถุงละ 4-8 สตางค์ ในขณะที่ชุดนักเรียน ซึ่งใช้แรงงานจำนวนมากในการตัดเย็บก็ยังมีผลกระทบน้อยมาก โดยหากราคาขายตัวละ 180 บาท อาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียงตัวละ 0.94 - 1.74 บาทเท่านั้น โดยรวมแล้วค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นมีผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า 0.01-1.02% เท่านั้น ดังนั้นราคาสินค้าจึงไม่ควรจะปรับขึ้น
"การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อต้นทุนและราคาสินค้าน้อยมาก จึงไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ประกอบการจะปรับขึ้นราคาขายสินค้า ดังนั้น กรมฯ จึงได้มีมาตรการกำกับดูแลราคาสินค้าอย่างเข้มงวดทุกช่วงการค้า ตั้งแต่ราคาโรงงาน, ตัวแทนจำหน่าย, ผู้ค้าส่ง, ผู้ค้าปลีก รวมทั้งได้จัดสายตรวจในกรุงเทพฯ 9 สาย และภูมิภาคทั่วประเทศ ลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง" อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าว
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มกำลังซื้อ ทำให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการจะสามารถจำหน่ายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น และเมื่อผลิตมากขึ้น จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยสินค้าลดลงอีกด้วย
นางนันทวัลย์ กล่าวว่า หากประชาชนพบว่าผู้ขายปรับราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ซึ่งกรมฯ จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 อย่างเคร่งครัด โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ