พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (นาโนไฟแนนซ์) ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 2558 มีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเปิดดำเนินการแล้ว 22 ราย ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ 1 ราย และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร 21 ราย มียอดสินเชื่อที่รอจ่ายรวม 893 ล้านบาท จาก 36,414 บัญชี หรือเฉลี่ย 24,527 บาทต่อบัญชี เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปี 2559
"หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ จนถึงขณะนี้คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.82 หรือ 7.32 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งยังถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับ NPL ของสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของธนาคารพาณิชย์"พลโท สรรเสริญ กล่าว
พลโท สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2559 มีการให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายย่อยแล้ว จำนวน 40,547 ราย เป็นวงเงินรวม 1,053.50 ล้านบาท ส่งผลให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปประกอบอาชีพ และยังช่วยให้ลูกหนี้นอกระบบที่มีศักยภาพสามารถรีไฟแนนซ์เข้าสู่ระบบได้ โดยมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าและมีการทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม
ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดทำมาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ โดยอนุญาตให้มีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยประเภทใหม่ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบอาชีพรายย่อยที่ไม่มีรายได้ประจำ ไม่ต้องใช้หลักประกัน โดยกู้เงินได้ไม่เกินรายละ 100,000 บาท
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะขอใบอนุญาตให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์สามารถยื่นแบบฟอร์มได้ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่และสำนักงานภาค หรือ โทร. 0 2283 5828 หรือ กระทรวงการคลัง 0 2273 9020 ต่อ 3288 ส่วนประชาชนทั่วไปที่ประสงค์จะขอสินเชื่อดังกล่าว สอบถามได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทร. 1213