ธปท.จับคู่เจรจาข้อตกลง QABs ขยายธุรกิจสถาบันการเงินไทยในอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 28, 2016 14:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ในกลุ่มประเทศอาเซียนได้เริ่มมีการเจรจา ASEAN Banking Integration Framework (ABIF) หรือกรอบความร่วมมือเพื่อความเชื่อมโยงในเรื่องการบริการของสถาบันการเงินในอาเซียนมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในโครงการสำคัญ คือ Qualified ASEAN Banks หรือ QABs ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศที่จะเจรจาจับคู่กัน เพื่อเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินของอีกประเทศหนึ่งมาเปิดดำเนินธุรกิจในอีกประเทศหนึ่งได้ ในเงื่อนไขที่ผ่อนปรนมากกว่าที่เปิดให้ประเทศอื่นนอกอาเซียน

โดยขณะนี้ไทยเริ่มกระบวนการเจรจาไปแล้วกับ 2 ประเทศ คือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และล่าสุดเมื่อวานนี้ (27 พ.ย.) ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ลงนามกับธนาคารกลางของเมียนมา ที่จะเริ่มกระบวนการเจรจาในการทำให้เกิดกรอบ QABs ระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้สถาบันการเงินไทยมีโอกาสเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมา และให้โอกาสสถาบันการเงินจากเมียนมาเข้ามาขยายธุรกิจในไทยมากขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเจรจา

"ตอนนี้ ธนาคารเมียนมาได้มาเปิดสำนักงานผู้แทนในประเทศไทยแล้ว และหากพิจารณาขนาดธุรกิจระหว่างไทยกับเมียนมาจะพบว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งการค้า การลงทุน มีบริษัทจากไทยเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในเมียนมามากขึ้น ขณะเดียวกันมีชาวเมียนมาเข้ามาทำงานในประเทศไทยค่อนข้างมาก ซึ่งต้องการได้รับบริการทางการเงินที่ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน" นายวิรไท กล่าว

พร้อมระบุว่า การพิจารณาว่าไทยจะไปจับคู่เจรจา QABs กับประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น จะดูจากความสนใจของทั้งสองฝ่าย ว่ามีสถาบันการเงินใดสนใจจะไปทำธุรกิจในประเทศเหล่านั้นหรือไม่ และสถาบันการเงินของเขาสนใจจะมาทำธุรกิจในไทยหรือไม่ ซึ่งการที่ ธปท.ได้เจรจากับ 3 ประเทศดังกล่าวไปแล้วนั้น เนื่องจากเห็นว่ามีโอกาสทางธุรกิจที่จะขยายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องไม่ลืมว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนนับเป็นแหล่งการค้าการลงทุนที่สำคัญและนับวันจะยิ่งมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น

"เราไม่จำเป็นต้องทำให้ครบกับทุกประเทศในอาเซียน เพราะภายใต้กรอบ ASEAN Banking Integration Framework เป็นร่มใหญ่ แต่ละประเทศจะจับคู่กันเองตามแต่จะเห็นว่ามีความต้องการ หรือมีประโยชน์ ดังนั้นเงื่อนไขของแต่ละคู่ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ

ทั้งนี้ ภายใต้ ASEAN Banking Integration Framework มีหลายเรื่องที่อยู่ในการดำเนินการ ซึ่งกรณี QABs ก็เป็นหนึ่งในนั้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องการส่งเสริมระบบการชำระเงินระหว่างกัน ที่จะทำให้มีโครงสร้างพื้นฐานของการชำระเงินที่ง่ายและสะดวกขึ้น, การใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการทำธุรกรรมข้ามประเทศ ซึ่งได้มีข้อตกลงกับมาเลเซียและบางพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้านแล้ว

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า วันนี้สมาชิกสมาคมธนาคารอาเซียน (ASEAN Bankers Association : ABA) พร้อมด้วยสมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมสัมมนา ASEAN Banking Conference ครั้งที่ 21 และการประชุม ASEAN Banking Council Meeting ครั้งที่ 46 โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างบทบาทและความแข็งแกร่งของธนาคารในภูมิภาคอาเซียน และพร้อมรับกับความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายปรีดี กล่าวว่า ปัจจุบันภาคการเงินธนาคารในภูมิภาคอาเซียนกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่บรรทัดฐานใหม่ของเศรษฐกิจโลก (New Normal Economy) อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป การแข่งขันภายใต้เทคโนโลยี เช่น Fintech ในภาคการเงินอย่างรวดเร็ว ตลอดจนหลักเกณฑ์ข้อบังคับใหม่ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการควบคุมกิจการของสถาบันการเงิน

"การรวมตัวของนายธนาคารและนักการเงินจากประเทศอาเซียนในครั้งนี้ จึงเป็นการประชุมที่สำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต และเสริมสร้าความแข็งแกร่งของภาคการเงินในภูมิภาคผ่านความร่วมมือที่แนบแน่นยิ่งขึ้นด้วยแนวทางและเป้าหมายที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นั่นคือการยกระดับบริการทางการเงินให้สามารถรองรับศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่อง" นายปรีดีกล่าว

โดยปริมาณการค้าและการส่งออกในภูมิภาคอาเซียนมีมูลค่าสูงถึง 2.27 ล้านล้านดอลลาร์ และมีการลงทุนจากต่างประเทศมากถึง 1,300 ล้านดอลลาร์ หลังจากเริ่มต้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปลายปี 2558 พร้อมใช้เครือข่ายที่แข็งแกร่งของสมาชิกสมาคมธนาคารอาเซียนส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสามารถขยายฐานการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้อย่างเต็มศักยภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ