นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ และโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ตามที่โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 -7 จ.ลำปาง ได้มีการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ใหม่ เนื่องจากผลการประกวดราคาได้โรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 655 เมกะวัตต์ สูงกว่ากำลังผลิตเดิมในการจัดทำรายงาน EHIA ครั้งแรก ซึ่งมีกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ เนื่องจากเป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมดีขึ้น อย่างไรก็ตาม กำลังผลิตติดตั้งที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะต้องมีการจัดทำรายงาน EHIA ใหม่ด้วย
สำหรับโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 มีค่าควบคุมการระบายมลสารที่ปากปล่องโรงไฟฟ้าที่ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) 236 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากค่ามาตรฐาน 471 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) 169 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากค่ามาตรฐาน 376 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และฝุ่นละออง 30 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากค่ามาตรฐาน 80 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะเห็นได้ว่าโครงการฯ ใหม่มีการควบคุมการระบายมลสารอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน และดีกว่าค่าที่ระบุใช้ใน EHIA เดิมขนาด 600 เมกะวัตต์
อนึ่ง การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1) ได้จัดขึ้นแล้วในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และได้มีประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันชุมนุมอภิปรายในประเด็นความกังวลเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตชุมชน กฟผ. จึงเลื่อนการรับฟังความคิดเห็นออกไปก่อนเพื่อทำความเข้าใจกับชุมชน และประชาสัมพันธ์การดำเนินการดังกล่าวอีกครั้ง โดย กฟผ. จะเชิญกลุ่มผู้นำชุมชนทุกกลุ่มมาหารือกันถึงแนวทางในการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งต่อไป