(เพิ่มเติม) สรท.ยังคาดส่งออกปีนี้หดตัว -0.8% ถูกกดดันจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ลุ้นปีหน้าโต 0-1%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 30, 2016 11:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาพผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 59 จะยังหดตัวที่ -0.8% หรือดีที่สุดคือทรงตัวที่ 0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เพราะแม้ข้อมูลผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจในตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น และจีน จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ผลจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดต่ำลงเพราะประเทศผู้ผลิตน้ำมันยังไม่สามารถตกลงร่วมกันเกี่ยวกับปริมาณการผลิต จึงเชื่อว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกยังมีทิศทางทรงตัวในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกของไทย

ขณะที่ในปี 60 คาดว่าการส่งออกของไทยจะเติบโตระหว่าง 0-1% โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ 1.สถานการณ์และความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศ 2.ผลกระทบจากนโยบายทางการเงินและการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) 3.ความผันผวนของราคาน้ำมันและทองคำ 4.มาตรการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมและแรงงานในประเทศ 5.ความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบการและรัฐบาลไทยต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น 6.ต้นทุนโลจิสติกส์สำหรับการค้าระหว่างประเทศ และ 7.ภัยธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น

นายนพพร กล่าวว่า แม้สถานการณ์การส่งออกของไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ แต่เมื่อพิจารณาถึงทิศทางของภาคการผลิตและอุตสาหกรรมที่ยังทรงตัวและอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับคู่แข่งสำคัญ เช่น เวียดนาม จึงเป็นแรงผลักดันให้ไทยจำเป็นต้องเร่งผลักดันและให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้าเสรีภายใต้กรอบ FTAAP และ RCEP เพื่อให้เกิดโอกาสทางการค้าและการตลาดเพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนาภายในประเทศด้านอื่นๆ ให้มีมาตรฐานสูงขึ้น และรวมถึงการพัฒนากระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับทิศทางของการกำหนดมาตรฐาน และความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งมีชาติสมาชิกให้สัตยาบันแล้ว 100 ประเทศ ยังเหลืออีกเพียง 10 ประเทศ ความตกลงดังกล่าวก็จะมีผลบังคับใช้

"สภาผู้ส่งออก มีข้อกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามความตกลงดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยยังคงมีข้อบทที่ต้องปรับปรุงและจำเป็นต้องพัฒนาระบบและมาตรฐานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในกิจกรรมการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกระบวนการทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างสมบูรณ์ ในขณะที่มีข้อบทของความตกลงซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกมีสิทธิ์ระงับการนำเข้าสินค้าจากชาติสมาชิกอื่นที่ไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่เกี่ยวกับความตกลงฯ ได้" นายนพพร กล่าว

พร้อมมองว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องดำเนินการเป็นอย่างแรก คือ การเร่งจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยความสะดวกทางการค้าแห่งชาติ (National Trade Facilitation Committee) เพื่อให้รับผิดชอบดำเนินการให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการปฏิบัติตามข้อบท และมาตรฐานทั้งหมด โดยต้องมีองค์ประกอบของกรรมการจากภาคเอกชนในสัดส่วนที่เท่ากับกรรมการจากหน่วยงานภาครัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ