นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ภาพรวมเดือน ต.ค. 59 อยู่ที่ 107.5 ขยายตัว 0.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) แต่ลดลง 0.79%จากเดือน ก.ย. 59 (MOM) โดยมีอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้เป็นบวก ได้แก่ เครื่องสำอาง เคมีภัณฑ์ และเส้นใยประดิษฐ์ น้ำมันปิโตรเลียม เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ต.ค. อยู่ที่ 65.4% ส่งผลให้ MPI ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 0.1%
โดยสินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัว ได้แก่ เครื่องสำอาง เคมีภัณฑ์ และเส้นใยประดิษฐ์ การผลิตเดือนตุลาคม 2559 เพิ่มขึ้น 22.90% ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจาก การผลิตสบู่ เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาดและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับประทินร่างกาย และสินค้าของไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาด ทำให้มีการสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น
น้ำมันปิโตรเลียม การผลิตเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 19.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจาก น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องทำให้มีการบริโภคน้ำมันมากขึ้น เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน การผลิตเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการเร่งผลิตเครื่องปรับอากาศรุ่นที่ใช้สารทำความเย็น R22 ก่อนจะถูกยกเลิกในปี 2560 และเปลี่ยนใช้สาร R32 แทน
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากกลุ่มสินค้า Other IC เป็นผลจากคำสั่งซื้อของกลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์แสดงผล และชิ้นส่วนอุปกรณ์เพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น
เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก การผลิตเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อน และปัจจัยเรื่องราคาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการป้องกันการทุ่มตลาดเหล็กจากจีน ทำให้ผู้ผลิตเริ่มมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับสินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ การผลิตเดือนตุลาคมลดลง 39.15% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความหลากหลายทั้งรูปแบบและขนาด ซึ่งปีนี้ได้รับคำสั่งซื้อสินค้าที่ผลิตยากหรือมีขนาดใหญ่ทำให้ปริมาณการผลิตลดลง ประกอบกับผู้ว่าจ้างได้ปรับมาตรฐานคุณภาพของสินค้าสูงขึ้น
น้ำมันพืช การผลิตเดือนตุลาคมลดลงร้อยละ 14.57 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัญหาภัยแล้งในปี 2558 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2559 ทำให้ผลผลิตลดลง สินค้าออกสู่ตลาดน้อยและบางพื้นที่ขาดแคลน
ขณะที่แนวโน้มปี 60 คาดว่า MPI จะขยายตัว 1.0% จาก 0.5% ในปี 59 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและการค้าโลก รายจ่ายการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการดำเนินงานภายใต้แผนงานการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
อีกทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งล่าสุดผู้ผลิตรายงานว่าจะขยายตัว 5% จากปี 59 หรือจำนวน 2.2 ล้านคัน สูงกว่าที่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2 ล้านคัน หรือขยายตัวเพิ่มจากปีนี้ 2.56%, อุตสาหกรรมอาหาร ขยายตัว 0-2% เช่น การส่งออกไก่และกุ้ง, อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัว 2.3%, อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขยายตัว 2%
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากยอดการขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา จำนวน 1,205 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 4.08 แสนล้านบาทแล้ว โดยในจำนวนนี้เป็น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลมูลค่า 192,198 ล้านบาท
นายวีรศักดิ์ กล่าวถึงสาเหตุที่ปรับลดคาดการณ์ MPI ปี 59 จากเดิมที่จะขยายตัว 1-2% ลงมาอยู่ที่ 0.5% เนื่องจากการชะลอตัวลงของการส่งออกต่ำกว่าเป้าหมาย แต่เริ่มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4/59 ซึ่งคาดว่า MPI ในช่วงที่เหลือจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนเฉลี่ยเดือนละ 2.5% โดยดูจากยอดนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ
"ปีหน้าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ดีกว่าปีนี้ เพราะดูแล้วไม่น่าจะแย่ไปกว่าปีนี้แล้ว" นายวีรศักดิ์ กล่าว