นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงาน GMS ของไทย เป็นประธานการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 21 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Greater Mekong Subregion Economic Cooperation: GMS) ที่ จ.เชียงราย ซึ่งรัฐบาลไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเจ้าภาพการประชุมร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ภายใต้หัวข้อหลัก "เร่งรัดผลักดันการเติบโตอย่างครอบคลุมตามแนวระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค GMS"
การประชุมฯ ครั้งนี้ประกอบด้วยการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) การประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ โดยมี นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานการประชุมแทนรัฐมนตรีประจำแผนงาน GMS ของไทย (2) การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสแผนงาน GMS และ (3) การประชุมหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ GMS โดยการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 21 แผนงาน GMS ยังมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากหุ้นส่วนการพัฒนาต่างๆ ภาคเอกชน (สภาธุรกิจ GMS) และจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก จ.เชียงราย จำนวนรวมทั้งสิ้นกว่า 300 คน
นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้เน้นย้ำความสำคัญของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมทั้งโครงการในพระราชดำริจำนวนมากกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งมีส่วนสอดคล้องกับหลักการและเป้าหมายการพัฒนา GMS
รัฐมนตรี GMS ได้เห็นชอบการจัดทำประเมินผลระยะกลางรอบของแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบการลงทุนในภูมิภาค (GMS RIF-IP (2557-2561)) โดยโครงการจำนวน 52 โครงการ จากทั้งสิ้น 93 โครงการได้รับการจัดสรรงบประมาณลงทุนแล้วกว่า 26,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 86 ของมูลค่าการลงทุนรวม โดยประเทศสมาชิก GMS ได้จัดสรรงบประมาณลงทุนโครงการ RIF-IP รวมทั้งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากหุ้นส่วนการพัฒนาอื่น ๆ เช่นกัน
นอกจากนี้ รัฐมนตรี GMS ยังเห็นชอบการจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบการลงทุนในภูมิภาคฉบับใหม่ถึงปี 2563 ซึ่งมีโครงการจำนวน 107 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 32,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรวมถึงโครงการปรับปรุงทางหลวงเชียงราย-เชียงของด้วยเช่นกัน ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเห็นว่าควรต้องมีการเสนอกลไกทางด้านการเงินในรูปแบบใหม่เพื่อดึงดูดการลงทุนให้มากขึ้น นอกจากนี้จำเป็นต้องศึกษาในเชิงลึกและหารูปแบบที่เหมาะสมในความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)
รัฐมนตรี GMS รับทราบการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือของไทยแก่ประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาประสิทธิภาพความเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งใน GMS โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ อาทิ การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 พร้อมด่านพรมแดน การก่อสร้างด่านพรมแดนพร้อมถนนเชื่อมต่อบริเวณบ้านสตรึงบท ประเทศกัมพูชา การก่อสร้างสะพานข้ามห้วยพรมโหดบริเวณบ้านหนองเอี่ยน-บ้านสตรึงบท การก่อสร้างสะพานสำหรับรถไฟปอยเป็ต-คลองลึก จ.สระแก้ว และการศึกษาและออกแบบในรายละเอียดการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (บึงกาฬ-ปากซัน) เป็นต้น
รัฐมนตรี GMS รับทราบเริ่มการดำเนินงานนำร่องตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามแดนใน GMS (CBTA) ในวันที่ 1 มกราคม 2560 และการเริ่มดำเนินงานตามความตกลง CBTA อย่างเต็มรูปแบบ (Full Implementation) ในปี 2562 โดยในส่วนของไทยมีความพยายามในการปฏิบัติการตรวจแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (Single-Stop Inspection: SSI) ร่วมกับ สปป.ลาว บริเวณมุกดาหาร-สะหวันนะเขต ซึ่งคาดว่าสามารถเริ่มดำเนินการในปี 2560 นอกจากนี้ ยังได้เห็นพ้องร่วมกับกัมพูชาเพื่อเพิ่มโควต้าการเดินรถระหว่างกันจาก 40 คันเป็น 150 คัน รวมทั้งมีความร่วมมือกับเมียนมาในการออกใบอนุญาตการเดินรถระหว่างกันภายในปี 2560 ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายยานพาหนะ ผู้โดยสารและสินค้าใน GMS
รัฐมนตรี GMS ได้ให้การรับรองผลการศึกษาการปรับปรุงแนวระเบียงเศรษฐกิจใน GMS ซึ่งมุ่งเน้นการขยายแนวให้ครอบคลุมเมืองหลวงของประเทศ GMS ทั้งหมด เชื่อมโยงเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจหลักและท่าเรือส่งออกทางทะเลที่สำคัญ รวมทั้งเชื่อมต่อแนวระเบียงเศรษฐกิจไปยังเมียนมาอย่างครอบคลุม
รัฐมนตรี GMS ได้ให้การรับรองผลการศึกษากรอบกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานใน GMS โดยมุ่งเน้นยกระดับบทบาทการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (SOM) ให้เป็นกลไกความเชื่อมโยงและขับเคลื่อนการดำเนินงานในแต่ละสาขาความร่วมมือ และเสนอให้เวทีหารือเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor Forum: ECF) จัดให้มีการประชุมต่อเนื่องกับการประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Conference) เพื่อให้มีการบูรณาการต่อกันและเป็นเวทีเสริมสร้างและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจ GMS พร้อมทั้งมุ่งเน้นการเพิ่มบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ GMS มากยิ่งขึ้น
รัฐมนตรี GMS ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโส GMS จัดทำการทบทวนระยะกลางกรอบยุทธศาสตร์ GMS ปี 2555-2565 เพื่อทบทวนแนวทางการดำเนินงานที่ผ่านมาในอันที่จะบรรลุเป้าหมาย GMS ในด้านการพัฒนาอย่างครอบคลุมและการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นโอกาสอันดีในการเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีของ GMS ในโอกาสการประชุมระดับผู้นำ GMS ครั้งที่ 6 ในปี 2561 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 22 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 กันยายน 2560 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยจะเป็นการประชุมต่อเนื่องกับเวทีหารือการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ครั้งที่ 9