ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยคนกรุงส่วนใหญ่มีแผนเที่ยวในปท.ช่วง Q4/59 คาดเงินสะพัด 4.4 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 2, 2016 17:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่าง 66.0% มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอย่างน้อย 1 ทริป ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนกับครอบครัว/เพื่อน โดยปลายทางยอดนิยมอันดับ 1 คือ เชียงใหม่ รองลงมา คือ เชียงราย, เลย, กระบี่ และชลบุรี

"ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า ปลายทางท่องเที่ยวที่คนกรุงเทพฯ มีแผนจะเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ไม่ต่างจากผลการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก" เอกสารเผยแพร่ระบุ

นอกจากนี้ จำนวนคนกรุงเทพฯ อาจเที่ยวเพิ่มขึ้น 6.4% จากช่วงเดียวกันของปี 2558 และก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่ต่างๆ มูลค่าประมาณ 44,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แรงหนุนส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการภาครัฐที่มุ่งหวังกระตุ้นคนไทยเที่ยวในประเทศช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้

จากผลสำรวจข้างต้น ชี้ให้เห็นโอกาสทางธุรกิจ แม้ภาคธุรกิจในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวหลักจะได้รับอานิสงส์โดยตรงจากตลาดคนกรุงเทพฯ แต่ผู้ประกอบการในเมืองรองก็ควรใช้จังหวะนี้นำเสนอบริการ, แพ็คเกจท่องเที่ยวเชื่อมโยง เช่น ธุรกิจนำเที่ยวใช้จังหวะที่ภาครัฐมีมาตรการนำค่าบริการจากบริษัทนำเที่ยวมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงเดือนธันวาคม 2559 อาจนำเสนอแพ็คเกจทัวร์รับลมหนาวเชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง แพ็คเกจทัวร์รับลมชมทะเลอันดามัน ภูเก็ต-กระบี่-พังงา เป็นต้น โดยในส่วนนี้ ภาครัฐอาจเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อทำให้เมืองท่องเที่ยวรองเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อให้การเดินทางระหว่างเมืองท่องเที่ยวหลักและรองมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

ด้านการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ระหว่างเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ประมาณ 64.7% ใช้จ่ายด้วยเงินสด รองลงมา คือ ใช้จ่ายด้วยเงินสดและบัตรเครดิตในสัดส่วนใกล้เคียงกัน โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างมีการใช้จ่ายส่วนใหญ่สำหรับค่าอาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อคนต่อทริป รองลงมา คือ ค่าใช้จ่ายที่พัก ประมาณ 1,000-1,500 บาทต่อคนต่อทริป และค่าใช้จ่ายสำหรับของฝากของที่ระลึก ประมาณ 500-1,000 บาทต่อคนต่อทริป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอาจพิจารณาปรับตัวเพื่อเพิ่มรายได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้และระยะถัดไป ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ทในปลายทางระยะใกล้ เร่งจัดรายการส่งเสริมการขาย ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายของฝากในพื้นที่ท่องเที่ยว อาจร่วมกับพันธมิตรสร้างการรับรู้และเพิ่มยอดขาย นอกจากนี้ ธุรกิจจะต้องติดตามแนวทางการส่งเสริมของภาครัฐ และอาจนำไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าเป้าหมาย เช่น ปัจจุบันภาครัฐมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยใน “70 เส้นทางตามรอยพระบาท" ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสให้ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องนำมาใช้เป็นจุดขายหรือแคมเปญในการทำการตลาดไม่ว่าจะเป็นลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กร

สุดท้ายธุรกิจต้องปรับตัวหันมาทำตลาดผ่านสื่อดิจิตอล เพื่อตอบโจทย์ตลาดคนไทยรุ่นใหมที่ท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญช่องทางนี้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะใช้เป็นสื่อกลางทำให้แบรนด์สินค้าและบริการเป็นที่รู้จักในตลาด ควบคู่กับใช้เป็นช่องทางให้การนำเสนอโปรโมชั่นไปยังลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการใช้ช่องทางนี้สื่อสารกับลูกค้าเพื่อนำข้อเสนอแนะต่างๆ ไปปรับปรุง/พัฒนาการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ