พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกลไกในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบภาวะวิกฤติทางการเงินอันอาจจะกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน รวมทั้งมีการเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินตามแผน แนวทาง และวิธีการที่ ครม.ได้อนุมัติ พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า แม้จะมีการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวของกระทรวงการคลังนี้ แต่ยืนยันว่าสถานะทางการเงินของประเทศไทยยังมีความแข็งแกร่ง แต่สาเหตุที่ต้องผลักดันกฎหมายนี้ออกมา เนื่องจากต้องการให้เกิดความปลอดภัยว่าเมื่อหากเกิดเหตุวิกฤติทางการเงิน เช่น วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ขึ้นอีกในอนาคต ประเทศไทยจะมีกลไกรองรับในการแก้ปัญหานี้ได้ โดยหลักการของกฎหมายนี้จะใช้กลไกของกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นหลัก คือ จะให้กองทุนฟื้นฟูฯ มีอำนาจในการเรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาช่วยเหลือสถาบันการเงินที่กำลังประสบภาวะวิกฤติ หรือได้ประสบภาวะวิกฤติแล้ว เช่น ให้กู้ยืมเงินโดยมีการตกลงรายละเอียดในเรื่องของหลักประกัน, การให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้าถือหุ้นสถาบันการเงินที่เกิดวิกฤติ, การแปลงหนี้เป็นทุน หรือการให้ความช่วยเหลือทางการเงินอื่นๆ "การเรียกเก็บเงินในอัตราเท่าใดนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ จะเป็นผู้พิจารณาถึงความวิกฤติที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินนั้นๆ ว่าควรจะเรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงินอื่นๆ จำนวนเท่าใด เพื่อมาช่วยเหลือเยียวยาในส่วนนี้ แต่หากการเรียกเก็บเงินในส่วนนี้ยังไม่เพียงพอแก้ไขปัญหาได้ รัฐบาลจะต้องมีส่วนมาช่วยดูแลด้วย" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว พร้อมระบุว่า การอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยนี้ เป็นการป้องกันภาวะวิกฤตที่จะเกิดกับสถาบันการเงินในอนาคต ไม่ว่าจะก่อนเกิดวิกฤต กำลังเกิดวิกฤต หรือหลังเกิดวิกฤต ทำให้สามารถขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาได้ และขอให้อย่าตีความในแง่ลบว่าการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาเพราะประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในภาวะวิกฤตทางการเงิน ซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้นแน่นอน เพราะขณะนี้สถานะทางการเงินของประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง