รายงานข่าวจากทำเนียบรับาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการประชุม ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเห็นชอบในหลักการต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนารายยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) และผลการดำเนินการ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
พร้อมทั้งเห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมอบหมายให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการ ในลักษณะการเบิกจ่ายงบประมาณแทนกัน ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการของหน่วยงานที่รับผิดชอบจากการเบิกจ่ายเงินงบประมาณแทนกัน ให้กระทรวงดิจิทัลฯ ขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง
โดยมอบหมายให้ บมจ.ทีโอที เป็นผู้ดำเนินการกิจกรรมการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ทความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ และ บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นผู้ดำเนินการกิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ สู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub)
พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลฯ ดำเนินการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุม 24,700 หมู่บ้าน โดยใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติดำเนินการในหมู่บ้านที่เหลือเพิ่มเติมอีก จำนวน 15,732 หมู่บ้าน โดยใช้งบประมาณโครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO)
ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและที่กำหนดไว้ใน (ร่าง) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2559 ฉบับลงประชามติ มาตรา 56 ที่กำหนดให้ “โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน หรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่า 50%มิได้
นอกจากนี้ให้กระทรวงดิจิทัลฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลและดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องครบถ้วน โปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนอย่างเคร่งครัด เช่น การนำเสนอโครงการฯ ต่อคณะกรรมการทีโอทีและคณะกรรมการ กสท. การดำเนินการตามขั้นตอนของการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) (ถ้ามี) เป็นต้น
รวมทั้งจัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพย์สินหรือโครงข่ายทั้งในระหว่างการดำเนินโครงการและภายหลังการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนการดูแล บำรุงรักษา และซ่อมแซมอุปกรณ์โครงข่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการฯ ภายหลังจากการติดตั้งแล้วเสร็จ โดยเฉพาะในเรื่องของความสามารถในการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในแต่ละพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้การดำเนินการเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และเกิดความคุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ไปในการดำเนินโครงการฯ ด้วย
และให้กระทรวงดิจิทัลฯ รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ในส่วนความเห็น บมจ.กสทฯ ซึ่งเป็นวิธีการปฏิบัติ ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไปพิจารณาหารือกับ บมจ.กสทฯ เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป