กพช.อนุมัติร่างสัญญาซื้อขาย LNG ระหว่าง PTT-ปิโตรนาส เริ่มนำเข้าปี 60,เริ่มนำเข้า LPG เสรีตั้งแต่ม.ค.60

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 8, 2016 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นประธาน เห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาว (LNG SPA) ระหว่างบมจ.ปตท. (PTT) กับบริษัท PETRONAS LNG LTD. รองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยกำหนดส่งมอบในปี 60-61 ในปริมาณรวม 1 ล้านตัน/ปี และตั้งแต่ปี 62 ในปริมาณ 1.2 ล้านตัน/ปี อายุสัญญาประมาณ 15 ปี ทั้งนี้ ให้ PTT ลงนามในสัญญาดังกล่าวได้ภายหลังจากที่ร่างสัญญาฯได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว

ขณะที่กระทรวงพลังงาน รายได้งานแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และ LNG เพื่อความมั่นคง โดยได้ทบทวนและปรับประมาณการความต้องการใช้ก๊าซฯ ตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ.2558-2579 (Gas Plan 2015) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการใช้ในประเทศ โดยคาดว่าในปี 79 ความต้องการใช้ก๊าซฯจะอยู่ที่ระดับ 5,062 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เพิ่มขึ้นจากประมาณการไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว พ.ศ.2558-2579 (PDP2015) ซึ่งอยู่ระดับที่ 4,344 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

ขณะที่การจัดหาก๊าซฯจากอ่าวไทยจะมีปริมาณลดลงในอนาคต ส่งผลให้ต้องนำเข้า LNG เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปี 65 จะต้องนำเข้า LNG ประมาณ 17.4 ล้านตัน/ปี เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมอยู่ที่ 13.5 ล้านตัน/ปี และในช่วงปลายแผนปี 79 จะนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นถึง 34 ล้านตัน/ปี จากประมาณการเดิมอยู่ที่ 31 ล้านตัน/ปี

ดังนั้น จึงต้องปรับแผนโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดหา LNG ระยะยาวของประเทศ จากที่มอบหมายให้ PTT ดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 2 ในจ.ระยอง ด้วยกำลังการแปรสภาพ LNG จำนวน 5 ล้านตัน/ปี เพิ่มเป็น 7.5 ล้านตัน/ปี ประมาณการเงินลงทุนรวม 3.85 หมื่นล้านบาท และกำหนดส่งก๊าซฯได้ภายในปี 65

ขณะที่มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการสร้างคลัง LNG ในรูปแบบเรือลอยน้ำ FSRU (Floating Storage Regisification Unit) ขนาด 5 ล้านตัน/ปี ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน เพื่อรองรับการใช้ก๊าซฯของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและเพิ่มการแข่งขันธุรกิจจัดหา LNG ในอนาคต โดยมีประมาณการเงินลงทุนรวม 2.45 หมื่นล้านบาท กำหนดส่งมอบก๊าซฯภายในปี 67

นอกจากนี้ยังมอบหมายให้ PTT ศึกษารายละเอียดของโครงการ SFRU ในเมียนมา เพื่อทดแทนการผลิตก๊าซฯจากแหล่งในเมียนมา ที่จะหมดไปในอนาคต และกระจายความเสี่ยงจัดหาก๊าซฯโดยกระจายไปยังฝั่งตะวันตก เพื่อลดการพึ่งพาจัดหาก๊าซฯจากฝั่งตะวันออก โดยมีขนาด 3 ล้านตัน/ปี กำหนดส่งก๊าซฯภายในปี 70 โดยให้ PTT ศึกษาแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พ.ค.60 และนำเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ต่อไป

ทั้งนี้ กพช.ยังเห็นชอบการทบทวนนโยบายการกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดหาก๊าซฯ สภาพเศรษฐกิจ และสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยอัตราค่าบริการก๊าซฯจะจำแนกตามประเภทใบอนุญาตการประกอบกิจการก๊าซฯภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และมีการทบทวนตามระยะเวลาที่กำหนด หรือในกรณีที่มีเหตุที่ส่งผลให้ค่าบริการมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยให้กกพ. รับไปดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ต่อไป

ขณะเดียวกันกพช.ยังรับทราบสถานการณ์พลังงานในปี 59 และแนวโน้มปี 60 ตามที่กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดทำขึ้น ซึ่งคาดว่าแนวโน้มการใช้พลังงานในปี 60 จะเพิ่มขึ้น 3.1% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว จากปีนี้ภาพรวมการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้น 1.8% จากปีที่แล้ว พร้อมทั้งประมาณการราคาน้ำมันในปี 60 จะอยู่ในช่วง 50-55 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ด้านความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ในปี 60 จะอยู่ที่ระดับ 31,365 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน

นอกจากนี้กพช.ยังรับทราบข้อสรุปการดำเนินงานเพื่อเปิดเสรีธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ตามที่ประชุม กบง. เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.59 มีมติเห็นชอบ โดยให้ลดการควบคุมธุรกิจการผลิตและจัดหาลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อมิให้กระทบถึงราคาขายปลีกมากจนเกินไป จนนำไปสู่การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG ทั้งระบบ พร้อมมอบหมายให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการเพื่อเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านก่อนจะเปิดเสรีทั้งระบบ จะยังควบคุมราคาโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ แต่จะเปิดเสรีเฉพาะในส่วนการนำเข้า โดยให้ยกเลิกระบบโควตาการนำเข้า และสามารถส่งออกเนื้อก๊าซฯที่ผลิตในประเทศได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมธุรกิจพลังงาน ทั้งนี้ ให้เริ่มดำเนินการเปิดเสรีส่วนนำเข้าตั้งแต่เดือนม.ค.60 เป็นต้นไป

ระยะที่ 2 เปิดเสรีทั้งระบบ โดยจะยกเลิกการควบคุมราคาและปริมาณของทุกแหล่งผลิตและจัดหา รวมถึงยกเลิกการประกาศราคา ณ โรงกลั่นและราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ ภายหลังจาก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ