พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ระบุว่ากระทรวงพลังงานเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือนม.ค.60 พิจารณารูปแบบการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ มีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผน
โดยยังยืนยันความจำเป็นที่จะต้องเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ภายในปี 60 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชน และความมั่นคงทางพลังงาน เพราะขณะนี้ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าและกำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่เริ่มใกล้เคียงกัน
"เราจะเสนอที่ประชุมกพช.ครั้งต่อไป เป็นการเสนอในภาพรวมของภาคใต้ ซึ่งกฟผ.เตรียมภาพรวมทั้งหมด เราทำงานตามแผนที่กำหนดไว้ แต่จะให้กพช.ตัดสินใจจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน"พลเอกอนันตพร กล่าว
พลเอกอนันตพร กล่าวอีกว่า กระทรวงพลังงานได้ติดตามข้อมูลทั้งหมด และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งมีทั้งแผนหลักและแผนสำรอง และขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้าน รวมถึงสอบถามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการโรงไฟฟ้ารูปแบบใดด้วย
อนึ่ง ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ ปี 58-79 (PDP2015) จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ 6 แห่ง กำลังผลิตรวม 5,800 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้นก่อนเป็นการดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แก่ โรงไฟฟ้ากระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนจะต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าปลายปี 62 แต่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี
ส่วนโรงไฟฟ้าที่จะเข้าระบบต่อไป คือโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ในจ.สงขลา ซึ่งจะมี 2 ระยะ โดยระยะแรก ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ เดินเครื่องผลิตไฟฟ้ากลางปี 64 และระยะที่ 2 อีก 1,000 เมกะวัตต์ เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าปี 67 ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 3 แห่ง อยู่ระหว่างการจัดหาพื้นที่