ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 183 เสียง ผ่านเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แร่ ในวาระ 3 ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย
สำหรับร่าง พ.ร.บ.แร่ เป็นการนำ พ.ร.บ.พิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ.2509 และ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ที่ใช้บังคับมานานไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมาปรับปรุง โดยนำหลักการของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมาบัญญัติไว้ในกฎมายฉบับเดียวกัน เพื่อให้การอนุญาตและการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่เป็นไปอย่างมีระบบ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ให้กรมทรัพยากรธรณีเป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการ
โดยคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่เสนอยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การบริหารจัดการแร่เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องมีการทบทวนแผนแม่บททุกๆ 5 ปี ให้ รมว.อุตสาหกรรม มีอำนาจประกาศให้มีการประมูลแหล่งแร่ในพื้นที่และให้ผู้ชนะการประมูลได้สิทธิในการสำรวจแร่และทำเหมืองแรในพื้นที่นั้น
นอกจากนี้ได้มีการกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ต้องไม่ใช่พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตโบราณสถาน เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติหรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซึมซับ พร้อมกับกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และให้มีการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในการทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมืองการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ส่วนการขออาชญาบัตรสำรวจแร่ในท้องที่ใดให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นนั้น
ทั้งนี้ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังมีบัญชีแนบท้ายกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการออกอาชญาบัตร ประทานบัตร และใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมรายปี ค่าธรรมเนียมต่ออายุ โอนสิทธิการทำเหมืองและใบอนุญาต