ไทยร่วมลงมติให้ Carbosulfan เป็นเคมีภัณฑ์อันตราย ในอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 9, 2016 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา แจ้งว่า บริษัท FMC เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการเกษตรในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมียอดจำหน่ายเป็นอันดับ 7 ของโลก ได้ส่งผู้แทนจากบริษัท FMC ได้เข้าพบและสอบถามท่าทีของไทย กรณีการลงมติให้สารเคมี Carbosulfan บรรจุอยู่ในบัญชีเคมีภัณฑ์ที่เป็นอันตราย ตามอนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาทบทวนสารเคมี (Chemical Review Committee : CRC) จะเสนอให้ลงมติในเดือน เม.ย.60

ทั้งนี้ บริษัทฯ เห็นว่า หากสารเคมี Carbosulfan ได้รับการลงมติให้อยู่ในบัญชีสารต้องห้ามในอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ จะส่งผลให้เคมีภัณฑ์ชนิดนี้มีราคาสูงขึ้นและหาซื้อได้ยากขึ้น ซึ่งอาจทำให้อุตสาหกรรมผลิตยาฆ่าแมลงนำสารฯ ตัวอื่นมาใช้แทน และอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาฯ ลดลง

สำหรับอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศในการควบคุมการนำเข้าและส่งออกสารเคมีอันตรายต้องห้ามหรือจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด โดยมีการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 เป็นต้นมา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความรับผิดชอบระหว่างประเทศในเรื่องการค้าสารเคมีอันตรายบางชนิด และเพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากอันตรายของสารเคมี และส่งเสริมการใช้สารเคมีอย่างไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

โดยที่ภาคีสมาชิกรวมทั้งไทยของอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ต้องดำเนินการดังนี้ 1.แจ้งการใช้มาตรการสำหรับสารเคมีต้องห้ามหรือที่ถูกจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดภายในประเทศ 2.เสนอบัญชีรายชื่อสูตรผสมของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ที่เป็นอันตรายอย่างร้ายแรง 3.แจ้งข้อมูลการส่งออกสารเคมีต้องห้าม หรือถูกจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดให้สมาชิกผู้นำเข้าทราบก่อนการส่งออก 4.หากประเทศสมาชิกไม่อนุญาตให้นำเข้าจากประเทศใด ต้องปฏิเสธการนำเข้าสารเคมีชนิดนั้นจากประเทศอื่นด้วย และจะต้องไม่มีการผลิตสารเคมีชนิดนั้นขึ้นใช้ภายในประเทศ เป็นต้น

นางดวงพร กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันสารเคมี Carbosulfan จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ภายใต้การกำกับดูแลของกรมวิชาการเกษตรอยู่แล้ว ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องขอรับใบอนุญาตนำเข้าสารดังกล่าวจากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งไทยได้มีการนำสารดังกล่าวไปใช้ในภาคการเกษตรเพื่อกำจัดศัตรูพืชเช่นกัน โดยเฉพาะข้าว อ้อย และผลไม้ ดังนั้นการขึ้นบัญชีสารดังกล่าวเป็นสารเคมีอันตรายในอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเกษตรของไทยที่ใช้สารนี้ เนื่องจากไทยมีการกำกับดูแลสารดังกล่าวอยู่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ