ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มั่นใจพื้นฐานศก.ไทยยังแข็งแกร่ง พร้อมรองรับความผันผวนเงินทุนเคลื่อนย้ายได้หากเฟดขึ้นดบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 9, 2016 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่งต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากระดับ 0.25-0.50% สู่ระดับ 0.50-0.75% ในการประชุมรอบสุดท้ายของปี 2559 หลังจากที่เฟดได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันถึง 7 รอบการประชุมก่อนหน้านี้ ท่ามกลางหลายปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาของปี 2559 ทั้งนี้ แม้ตลาดการเงินทั่วโลกได้มีการปรับตัวสอดรับกับโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค.นี้ไปแล้ว แต่คงต้องยอมรับว่า การประชุมเฟดรอบนี้ยังมีอีกจุดที่น่าสนใจและต้องติดตาม คือ ประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชุดใหม่ และความเห็นต่อระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมในระยะข้างหน้าจากเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งอาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปจากประมาณการครั้งก่อนหน้าในเดือนก.ย.59

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1-2 ครั้งในปี 2560 ซึ่งคงต้องยอมรับว่า แรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่มีโอกาสปรับสูงขึ้นอีกในปี 2560 หลังจากตลาดน้ำมันโลกผ่านพ้นจุดต่ำมาแล้ว และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็น่าจะได้รับแรงกระตุ้นเพิ่มเติมอีกหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ เข้ามาเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตามที่หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการปรับเพิ่มการใช้จ่ายและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ตลอดจนมาตรการลดภาษี ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล

ทั้งนี้ จุดที่น่าสนใจก็คือ ท่ามกลางภาวะที่การฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ อยู่ใกล้ระดับเต็มศักยภาพ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ที่เพิ่มเติมเข้ามาอีก อาจจะมีผลทำให้เศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในปี 2560 มีโอกาสเร่งตัวขึ้นมากกว่าที่คาด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องเร่งจังหวะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอาจยังมีความไม่แน่นอน เพราะในอีกด้านหนึ่งนั้น หากความเสี่ยงเศรษฐกิจต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น เฟดก็อาจจะเผชิญกับภาวะที่ไม่สามารถส่งสัญญาณการคุมเข้มดอกเบี้ยได้อย่างชัดเจนมากนัก (เหมือนกับสถานการณ์ตลอดช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา)

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่อาจต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในปี 2560 ประกอบด้วย แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีโอกาสเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมหากทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐฯ เลือกที่จะใช้มาตรการกีดดันทางการค้าที่รุนแรง ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวย่อมจะซ้ำเติมปัญหาหนี้ภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนอาจเพิ่มความเปราะบางและความผันผวนให้กับค่าเงินหยวน และกระตุ้นการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นทางการเมืองในสหภาพยุโรปทั้งในเรื่อง BREXIT รวมถึงการเลือกตั้งในหลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศส และเยอรมนี (ตลอดจนอิตาลีที่อาจต้องเลื่อนการเลือกตั้งเข้ามาเร็วขึ้น) ที่อาจทำให้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความมีเอกภาพของสหภาพยุโรป หากจุดยืนของพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนอียูได้รับความสนใจจากประชาชนมากขึ้น

ทั้งนี้แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มที่น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในปี 2560 และสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้มีโอกาสเห็นกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ (รวมทั้งไทย) อย่างไรก็ดี จากการที่ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงรออยู่หลายประการในช่วงปีข้างหน้า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เฟดจะยังคงรักษาจังหวะการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยความระมัดระวัง

"ด้วยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเครื่องชี้เสถียรภาพต่างประเทศ (External Stability) ที่แข็งแกร่ง รวมทั้งระดับสภาพคล่องในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูง คงช่วยลดทอนผลกระทบจากความผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินบาทตามรอบการเก็งจังหวะเฟดขึ้นดอกเบี้ยลงไปได้บางส่วน" เอกสารเผยแพร่ระบุ

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามรายละเอียดและความชัดเจนของขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ในช่วงต้นปีหน้าอย่างใกล้ชิด เพราะคงต้องยอมรับว่า การคาดการณ์ถึงมาตรการกระตุ้นอย่างสุดขั้วของทรัมป์ เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่หนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากแนวนโยบายและสัญญาณกระตุ้นจากทีมเศรษฐกิจของทรัมป์ออกมาไม่มากเท่ากับที่ตลาดคาดหวังไว้ ก็อาจทำให้ตลาดพันธบัตรเผชิญกับการปรับฐานเป็นระลอก ซึ่งแน่นอนว่า คงจะมีผลต่อเนื่องบางส่วนมายังกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ