นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต (ฉบับที่ ...) พ.ศ... และร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ...) พ.ศ... ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปธุรกิจประกันอีกครั้งหนึ่งหลังจากประเทศไทยมีกฎหมายดังกล่าวใช้มาเกือบ 24 ปี
โดยกฎหมายดังกล่าวในช่วงแรกกฎหมายมุ่งกำกับดูแลการประกอบธุรกิจประกัน และความมั่นคงของธุรกิจ ซึ่งต่อมามีการปรับปรุง 2 ครั้ง คือ ในปี 51 ในเรื่องการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พร้อมถ่ายโอนงานการกำกับดูแลมาจากกรมการประกันภัย และในปี 58 มีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องโครงสร้างผู้ถือหุ้น และกฎระเบียบเกี่ยวกับกองทุนประกันวินาศภัย และกองทุนประกันชีวิต
"เนื่องจากปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีการเสนอขายและประกอบธุรกิจโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ และยังมีบทบัญญัติที่จะป้องกันเรื่องการฉ้อฉลประชาชนไม่เพียงพอ" นายกอบศักดิ์ กล่าว
สาระสำคัญเป็นเรื่องเกี่ยวกับ 1.การป้องกันการฉ้อฉล ได้แก่ กรณีตัวแทนหลอกลวงเบี้ยประกันจากประชาชน โดยไม่นำเบี้ยประกันไปส่งให้บริษัทประกันทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามที่ต้องการ, กรณีผู้เอาประกันสร้างหลักฐานเท็จ เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์, กรณีให้สินบนตัวแทนหรือตัวแทนเรียกรับสินบนเพื่อสร้างหลักฐานเท็จขอรับเงินสินไหม
"ก่อนหน้านี้สามารถยอมความกันได้ แต่หลังจากนี้ไปรัฐจะเป็นเจ้าทุกข์เอาความ ไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นอีก เพื่อปกป้องดูแลธุรกิจประกันให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม" นายกอบศักดิ์ กล่าว
2.การกำกับดูแลตัวแทนในการทำธุรกิจประกันที่มีจำนวนราว 3 แสนคน จากเดิมที่กำกับดูแลผ่านบริษัทประกัน เปลี่ยนมาเป็นการกำกับดูแลโดยตรง มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นตัวแทนจะต้องไม่เคยมีประวัติเสียหายเกี่ยวกับการทำธุรกิจประกัน โดยกำหนดจรรยาบรรณของผู้ที่จะเป็นตัวแทน
3.การประเมินความเสียหายจากเหตุวินาศภัยเพื่อเรียกรับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ จากเดิมที่เป็นบุคคลธรรมดาเปลี่ยนมาเป็นนิติบุคคลที่ทำหน้าที่ประเมินวินาศภัย
4.กรณีที่มีการทำธุรกิจผ่านการทำธุรกรรมอิเลคทรอนิกส์ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเลคทรอนิกส์ หรือตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับผู้ที่เกี่ยวข้องไปดูแลให้กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมถึงพฤติกรรมการขายประกันผ่านทางโทรศัพท์ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน รวมถึงการบังคับขายประกันผ่านการธนาคารกรณีการขอสินเชื่อ