(เพิ่มเติม) ครม.อนุมัติ Action Plan คมนาคมปี 60 วงเงิน 8.96 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 13, 2016 17:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า จะมีการดำเนินการต่อไปในส่วนของแผนปฏิบัติการเร่งด่วนด้านคมนาคมในปี 60 เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยอย่างแท้จริง โดยคิดเป็นมูลค่าโครงการในปีหน้าประมาณ 8.96 แสนล้านบาท โดยมีโครงการที่พร้อมจะให้บริการได้แล้ว 2 โครงการคือ โครงการท่าเรือเฟอร์รี่ เชื่อมอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก-ตะวันตก และโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม

สำหรับโครงการที่พร้อมจะก่อสร้างได้เลย มี 5 โครงการ คือ 1.ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งสินค้าเชียงของ เชียงราย 2.โครงการท่าอากาศยานในภูมิภาค 3.โครงการทางพิเศษ สายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอก 4.โครงการรถไฟทางคู่ หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และ 5.โครงการปรับปรุงการลำเลียงสัมภาระในสนามบินสุวรรณภูมิ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่สามารถเริ่มประกวดราคาได้อีก 15 โครงการ คือ 1.โครงการรถโดยสารไฟฟ้า 200 คัน 2.โครงการถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 3.โครงการถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (ช่วงสมุทรปราการ-บางปู และช่วงคูคต-ลำลูกกา) 4.โครงการรถไฟสายสีส้ม 5.โครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ส่วนที่ 2 เชื่อมบางซื่อ-ดอนเมือง พญาไท-บางซื่อ 6.รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต โครงรถไฟทางคู่อีก 7 เส้นทาง เป็นต้น

ส่วนโครงการ PPP เป็นโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงของ บ้านไผ่-นครพนม, โครงการแหลมฉบัง เฟส 3 โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 โครงการทางหลวงพิเศษ นครปฐม-ชะอำ ศูนย์ขนส่งชายแดนที่นครพนม เป็นต้น

"โครงการเหล่านี้จะช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้แก่ประเทศไทยต่อไป และทำให้ประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีโครงข่ายคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสมบูรณ์ ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ" นายกอบศักดิ์ กล่าว

ส่วนความคืบหน้าแผนปฏิบัติการด้านขนส่งระยะเร่งด่วน ปี 59 ที่ได้อนุมัติโครงการไว้ 20 โครงการ คิดเป็นมูลค่าราว 1.796 ล้านล้านบาท ซึ่งวันนี้ได้มีการรายงานความคืบหน้าใน 20 โครงการดังกล่าว โดยพบว่า 10 โครงการมีการประกวดราคาแล้ว คือ โครงการทางหลวงพิเศษพัทยา-มาบตาพุด, โครงการท่าเรือชายฝั่งที่แหลมฉบัง (ท่าเรือ A), ศูนย์การขนส่งตู้สินค้ารถไฟที่แหลมฉบัง, โครงการรถไฟทางคู่จิระ-ขอนแก่น, โครงการสุวรรณภูมิ เฟส 2, โครงการทางหลวงพิเศษบางปะอิน-นครราชสีมา, โครงการทางหลวงพิเศษบางใหญ่-กาญจนบุรี, โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม, โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

นอกจากยังมีอีก 5 โครงการที่เตรียมจะประกวดราคา ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมครม.ไปแล้ว คือ โครงการรถไฟทางคู่ มาบกระเบา-จิระ, โครงการรถไฟทางคู่ ประจวบฯ-ชุมพร, โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน สายสีแดงเข้ม, โครงการรถไฟทางคู่ นครปฐม-หัวหิน-ลพบุรี-ปากน้ำโพ

"ทั้งหมด 15 โครงการนี้ ได้ประกวดราคาไปแล้ว หรือกำลังเข้าสู่กระบวนการประกวดราคา ซึ่งถือว่าได้ดำเนินการไป 75% ของที่ตั้งใจไว้ โดยยังมีบางโครงการที่กำลังดำเนินขั้นตอน EIA คือ สายสีม่วง และมีรถไฟความเร็วสูงอีก 4 เส้นทาง กรุงเทพฯ-หัวหิน, กรุงเทพฯ - ระยอง, โครงการรถไฟไทยจีน, โครงการรถไฟไทยญี่ปุ่น ทั้งหมดเป็นโครงการหลักๆ ที่รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการไปในปีนี้" นายกอบศักดิ์กล่าว

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้รับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมรายงานการจัดทำแผนงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง (Action Plan) ในปี 60 จำนวน 36 โครงการ วงเงินลงทุน 895,757.55 ล้านบาท โดยเป็นงบลงทุนระบบราง 73.28% ทางด่วนและมอเตอร์เวย์คิดเป็น 18.67% รวมกันเป็น 95.95% ที่เหลือเป็นการลงทุนทางน้ำและสนามบินสุวรรณภูมิ

โดยคาดว่าจะมีวงเงินเบิกจ่ายในปี 60 วงเงินลงทุน 149,752 ล้านบาท จะช่วยกระตุ้นจีดีพีในปี 60 ได้มากกว่า 1% แต่ไม่ถึง 2% โดยเป็นการรวมการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สองข้างทางรถไฟ และการลงทุนของเอกชน และคาดว่าในปี 61 จะมีวงเงินเบิกจ่ายสูงสุด หรือมากขึ้นเป็นเท่าตัวจากวงเงินเบิกจ่ายปี 60 โดยจะเป็นมีงานก่อสร้างเข้ามามาก

ทั้งนี้ โครงการลงทุน 36 โครงการ แบ่งเป็น โครงการรถไฟทางคู่ 10 เส้นทาง วงเงินลงทุน 408,616.28 ล้านบาท (45.62%ของวงเงินรวม) ได้แก่ 1. ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 10,239.58 ล้านบาท ซึ่งครม.เพิ่งอนุมัติโครงการเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา 2. ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี วงเงิน 23,384.91 ล้านบาท 3. ช่วงสุราษฏร์ธานี-สงขลา วงเงิน 51,823.83 ล้านบาท 4. ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 7,941.80 ล้านบาท 5.ช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย วงเงิน 56,066.25 ล้านบาท

6.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ วงเงิน 59,924.24 ล้านบาท 7. ช่วงเด่นชัย-เชียงรายเชียงของ วงเงิน 76,978.82 ล้านบาท 8. ช่วงขอนแก่น – หนองคาย วงเงิน 26,065.75 ล้านบาท 9.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 35,839.74 ล้านบาท และ 10.ช่วงบ้านไผ่-นครพนม วงเงิน 60,351.91 ล้านบาท

รถไฟชานเมือง 2 เส้นทาง วงเงิน 26,639.07 ล้านบาท คือ 1. สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต วเงิงน 7,596.94 ล้านบาท 2.สายสีแดงอ่อน ส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช วงเงิน 19,042.13 ล้านบาท

รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 6 เส้นทาง วงเงินรวม 221,148.35 ล้านบาท (คิดเป็น 24.96%) ได้แก่ 1. สายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 วงเงิน 21,197 ล้านบาท 2.สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ วงเงิน 123,354 ล้านบาท 3.สายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ-บางปู วงเงิน 12,146 ล้านบาท 4.สายสีเขียวเข้ม ช่วงคูคต-ลำลูกกา วงเงิน 9,803 ล้านบาท 5. ระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิส ส่วนต่อขยาย (ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท) หรือ แอร์พอร์ตเรลลิงก์ วงเงิน 31,149.35 ล้านบาท และ 6.ระบบขนส่งมวลชน ภูเก็ต วงเงิน 23,499 ล้าน

ทางหลวงพิเศษและทางพิเศษ 5 เส้นทาง วงเงิน 167,222.65 ล้านบาท บาท (คิดเป็น 18.67%) ได้แก่ 1. ทางหลวง พิเศษสายนครปฐม-ชะอำ วงเงิน 80,600 ล้านบาท 2.ทางหลวงพิเศษ สายหาดใหญ่-ชายแดนไทยมาเลเซีย วงเงิน 30,500 ล้านบาท 3.ทางพิเศษสายพระราม3-ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอก กทม.ด้านตะวันตก วงเงิน 31,244 ล้านบาท 4. ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor วงเงิน 14,382 ล้านบาท และ โครงการทางพิเศษ สายกระทู้-ป่าตอง วงเงิน 10,496.65 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกทางถนน 5 โครงการ วงเงินรวม 21,473.29 ล้านบาท ได้แก่ 1.พัฒนาจุดพักรถบบรทุกตามเส้นทางหลัก วงเงิน 550 ล้านบาท 2.ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งสินค้าเชียงของ วงเงิน 2,365.81 ล้านบาท 3.ศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม วงเงิน 1,053.62 ล้านบาท 4.พัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค (ชายแดน 9 จังหวัด) วงเงิน 8,065.84 ล้านบาท และ 5.พัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค (เมืองหลัก 9 จังหวัด) รวมทั้งการจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้า จำนวน 200 คัน พร้อมก่อสร้างสถานีประจุไฟฟ้า วงเงิน 9,438.02 บาท

ส่วนทางน้ำ มี 3 โครงการ วเงิน 36,081.24 ล้านบาท 1. การเดินเรือเฟอร์รี่เชื่อมอ่าวไทยตอนบน เป็นการลงทุนของเอกชน และคาดว่าจะเริ่มเดินเรือในเดือน ม.ค.60 2.การพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมอ่าวไทยตอนบน วงเงิน 981.70 ล้านบาท และ 3.ท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 วงเงิน 35,099.54 ล้านบาท

ทางอากาศ มี 3 โครงการ รวมวงเงิน 10,949.11 ล้านบาท ได้แก่ การพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค จำนวน 28 แห่ง วงเงิน 7,685.50 ล้านบาท 2. ปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 3,263.61 ล้านบาท และ 3. ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปวงเงินลงทุน โดยบมจ.การบินไทย (THAI) อยู่ระหว่างศึกษาโครงการและหาผู้ลงร่วมลงทุน โดย MRO จะรวมเข้ามาอยู่ในแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (ECC) ซึ่งจะเสนอครม.ในรูปแพ็กเกจ ภายในปีงบประมาณ 60

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในส่วนแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ของปี 59 นั้น ครม.ได้อนุมัติโครงการแล้ว จำนวน 13 โครงการ วงเงินลงทุน 525,734.74 ล้าบาท และยังมีอีก 7 โครงการ วงเงินลงทุน 874,235.13 ล้านบาท ได้แก่ รถไฟฟ้าสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ, รถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน (ครม.อนุมัติแล้วเมื่อ 1 พ.ย.59), รถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ (ครม.อนุมัติแล้วเมื่อ 1 พ.ย.59) , รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา

ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-หัวหิน และโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-ระยอง รวมวงเงิน 247,201.16 ล้านบาท ซึ่งกำลังเตรียมประกวดราคา ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก ซึ่งเป็นความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น เตรียมเสนอครม. และคณะกรรมการ PPP


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ