นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยถึงกรณีการอายัดรถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (NGV) ซึ่งนำเข้าโดยบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัดนั้นว่า ล่าสุดจากการส่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรไปประสานงานตรวจสอบข้อมูลที่ประเทศมาเลเซีย พบว่า บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด นำเข้ารถโดยสารปรับอากาศยี่ห้อ SUNLONG รุ่น SLK6129CNG YEAR 2016 จำนวน 489 คัน ซึ่งได้ทยอยส่งออกจากประเทศมาเลเซีย มายังประเทศไทย จำนวน 5 เที่ยวเรือ เที่ยวละ 1 คัน, 99 คัน, 145 คัน, 146 คัน และ 98 คัน (อยู่ระหว่างการเดินทางจากมาเลเซียมายังประเทศไทย) ตามลำดับ รวมทั้งสิ้น 489 คัน
สามารถแบ่งการดำเนินการของบริษัทฯ เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 (เที่ยวที่ 1 – 2 รวมจำนวน 100 คัน) เป็นกลุ่มที่ผ่านพิธีการศุลกากรและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และกลุ่มที่ 2 (เที่ยวที่ 3 – 5 จำนวน 389 คัน) ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร โดยได้ตรวจสอบพบว่า ก่อนหน้าที่ R & A COMMERCIAL VEHICLES SDN BHD จะส่งรถโดยสารปรับอากาศดังกล่าวมายังประเทศไทย ได้มีการนำเข้ารถโดยสารปรับอากาศชนิดเดียวกันจากประเทศจีน โดย NORINCO NEW ENERGY CO., LTD. ระบุชื่อผู้ซื้อที่มาเลเซีย คือ R & A COMMERCIAL VEHICLES SDN BHD และพบสินค้านำเข้าเป็นรถยนต์สำเร็จรูป ซึ่งมีจำนวน ราคา และน้ำหนักตรงกันกับที่บริษัท R & A COMMERCIAL VEHICLES SDN BHD ส่งมายังประเทศไทย มีรายการหมายเลข Chassis หมายเลขเครื่องยนต์ ตรงกัน รวมทั้งแสดงราคาต่อหน่วยและน้ำหนักต่อหน่วย เท่ากัน
นายกุลิศ กล่าวว่า กรณีกลุ่มที่ 1 จึงเป็นการสำแดงแหล่งกำเนิดเป็นเท็จอันเป็นความผิดตามกฎหมายศุลกากรตามมาตรา 99 , 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ส่วนกรณีกลุ่มที่ 2 ยังไม่ถือว่าเป็นความผิด เนื่องจากผู้นำเข้ายังไม่ได้ยื่นเอกสารการนำเข้าต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งกรมศุลกากรได้ชี้แจงให้กับบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด รับทราบ และบริษัทฯ ยอมรับว่ามีความเข้าใจที่ผิดพลาดในข้อมูลการนำเข้าจากบริษัทผู้จำหน่ายในมาเลเซีย จึงแถลงข่าวในครั้งแรกตามข้อมูลที่ได้รับ เมื่อรับทราบข้อเท็จจริงแล้ว บริษัทฯ ยินดีปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของกรมศุลกากรทุกประการ
ทั้งนี้ หากบริษัทมีความประสงค์ที่จะชำระค่าภาษีหรือวางเงินประกัน และมีเอกสารพร้อม สามารถดำเนินการที่กรมศุลกากร หรือสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อทำการตรวจปล่อยได้ภายใน 1 – 2 วัน เท่านั้น
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า บริษัทซุปเปอร์ซาร่า ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี ยี่ห้อ Sunlong จำนวน 489 คัน ให้กับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ยอมรับว่ารถเมล์เอ็นจีวีที่นำเข้ากลุ่มแรกจำนวน 100 คัน และผ่านพิธีการศุลกากรเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้ว มีการสำแดงแหล่งกำเนิดเป็นเท็จ ไม่ได้เป็นรถที่ผลิตในประเทศมาเลเซีย แต่เป็นรถที่ผลิตในประเทศจีน จึงถือว่าผู้นำเข้ามีการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรแล้ว
ดังนั้นบริษัทผู้นำเข้าจะต้องเสียภาษีนำเข้า 40% ของราคารถคันละ 2.95 ล้านบาท พร้อมกับค่าปรับอีก 2 เท่าของภาษีที่ยังจ่ายไม่ครบ รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนที่ขาด คิดเป็นประมาณ 370 ล้านบาท ถึงจะนำรถออกไปได้ ซึ่งทางผู้นำเข้าขอเวลา 2-3 วันเพื่อหาเงินมาชำระภาษีและค่าประกัน
"บริษัทเอกชน รับปากกรมศุลกากรจะนำเงินมาชำระภาษี ค่าปรับ และเงินประกัน ซึ่งหากเอาเงินมาจ่าย กรมศุลฯ ก็สามารถปล่อยรถได้ทันที เอกชนก็นำรถไปเป็นของขวัญปีใหม่ได้อย่างที่ตั้งใจไว้" นายกุลิศ กล่าว
ส่วนรถเมล์เอ็นจีวีส่วนที่เหลือ 389 คัน ซึ่งยังไม่ได้ยื่นชำระภาษีกับกรมศุลกากร จึงยังถือว่าไม่มีความผิดสำแดงเป็นเท็จ โดยทางผู้นำเข้าจะสำแดงเป็นรถที่ผลิตจากประเทศจีน และยอมเสียภาษีนำเข้า 40% กับภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ครบถูกต้องทั้งหมด
ทั้งนี้ ผู้นำเข้าต้องจ่ายภาษีนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีทั้งหมด 489 คัน รวมเป็นเงิน 718 ล้านบาท และค่าปรับในส่วนของการนำเข้า 100 คันแรก อีก 230 ล้านบาท รวมเป็นประมาณ 948 ล้านบาท ซึ่งเงินภาษีทั้งหมดจะนำส่งเข้าคลัง ไม่มีค่าสินบนรางวัลนำจับทั้งสิ้น โดยผู้นำเข้ายอมรับว่าเข้าใจผิดพลาดในข้อมูลนำเข้าจากบริษัทผู้จำหน่ายในประเทศมาเลเซีย หากผู้นำเข้าชำระเงินภาษีและค่าปรับ กรมศุลกากรก็จะตรวจปล่อยได้ภายใน 2-3 วัน
"บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จะนำเงินมาจ่ายค่าภาษีเพื่อนำรถเอ็นจีวีในส่วนที่มีปัญหา 389 คันก่อน ซึ่งตอนนี้รถส่วนใหญ่ส่งมาถึงไทยแล้วแต่ยังไม่ผ่านศุลกากร ส่วนรถเมล์เอ็นจีวีส่วนที่มีปัญหาค่าปรับ จะจ่ายเงินภาษีและค่าปรับเพื่อนำออกมาภายหลัง" อธิบดีกรมศุลกากร กล่าว