การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมกับ 4 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ,กรุงเทพมหานคร (กทม.) ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำร่องบูรณาการการนำสายสื่อสารลงใต้ดินพื้นที่โครงการถนนพหลโยธิน สนองนโยบายรัฐบาลในการปรับปรุงภูมิทัศน์ของกรุงเทพฯ ก้าวสู่การเป็นเมืองแห่งมหานครอาเซียน
วันนี้ผู้ประกอบการเอกชน 6 ราย ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงโครงการร่วมใช้ท่อร้อยสายใต้ดินของกฟน. โดยเป็นโครงการทดลองปรับเปลี่ยนสายโทรคมนาคมจากระบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดิน ในเส้นทางถนนพหลโยธินและพญาไท (Bangkok Underground Duct)
สำหรับเอกชนทั้ง 6 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอ็ดวานซ์ ไวร์ เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ,บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ,บริษัท ทรู ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจ้นซ์ จำกัด (TU) , บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด (UIH) ,บมจ.ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น (SYMC) และบมจ.เอแอลที เทเลคอม (ALT)
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน กล่าวว่า กฟน.มีนโยบายในการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 27 เป็นต้นมา และเพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวบรรลุตามแผนงานที่วางไว้ ในวันนี้จึงได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินระหว่างทั้ง 5 หน่วยงาน
ปัจจุบันมีโครงการที่ดำเนินการแล้ว 6 โครงการ ได้แก่ โครงการสีลม โครงการปทุมวัน โครงการจิตรลดา โครงการพหลโยธิน โครงการพญาไท และสุขุมวิทบางส่วน และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 6 โครงการ ได้แก่ โครงการสุขุมวิท เฟสต่อเนื่อง โครงการปทุมวัน จิตรลดา และพญาไทเฟสต่อเนื่อง โครงการนนทรี โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก-อโศก และโครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 และยังมีแผนงาน ฯ อื่น ๆ เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียนในระยะ 10 ปี ตั้งแต่ปี 59-68 ระยะทาง 127.3 กิโลเมตร (กม.) เงินลงทุน 48,717 ล้านบาท ครอบคลุม 3 จังหวัด ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว จะเริ่มเดินหน้าโครงการ โดยแยกเป็นพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน ,สมุทรปราการ และนนทบุรี
ด้านนายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการ กฟน. กล่าวถึงการลงนามในครั้งนี้ เพื่อเป็นโครงการนำร่องบูรณาการนำสายสื่อสารลงดินพื้นที่โครงการถนนพหลโยธิน ร่วมกับหน่วยงานอีก 4 แห่ง ซึ่งกฟน.มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนอย่างเพียงพอ และคำนึงถึงความปลอดภัย พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการปรับทัศนียภาพให้มีความสวยงาม ตอบสนองตามนโยบายของภาครัฐบาล ต้องการเร่งรัดโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ของกรุงเทพมหานครให้แล้วเสร็จใน 5 ปีจากแผนเดิม 10 ปี เพื่อรองรับการเป็นเมืองแห่งมหานครอาเซียน จึงได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายสื่อสารในอากาศเป็นสายสื่อสารลงใต้ดิน
"โครงการดังกล่าวจะช่วยผู้ประกอบการในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม โดยจะช่วยให้ประหยัดงบลงทุนเมื่อเทียบกับการใช้เทคโนโลยีแบบเดิมด้วยความจุ (Capacity) ของจำนวนเส้นใยแก้วนำแสง (Optical fiber) ที่มากเพียงพอรองรับความต้องการของผู้ประกอบการทุกรายแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถรองรับการใช้งานของหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้งานสายใยแก้วนำแสงในเส้นทางดังกล่าวได้อีกด้วย และโครงการนี้นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เป็นการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสร้างเมืองที่สวยงามเพื่อรองรับการเป็นเมืองมหานครอาเซียน"นายชัยยงค์ กล่าว
พ.อ.เรืองทรัพย์ โฆวินทะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด (UIH) กล่าวว่า โครงการนำสายสื่อสารจากบนอากาศลงสู่ใต้ดิน ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของภาคเอกชนและภาครัฐ โดยจะดำเนินการนำสายสื่อสารระยะทางจากถนนพหลโยธินจากห้าแยกลาดพร้าว-สี่แยกปทุมวัน ซึ่งรวมระยะท่อของกฟน.ทั้งสิ้นประมาณ 30 กิโลเมตร วัตถุประสงค์ในการดำเนินการครั้งนี้เพื่อให้พื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ เกิดภูมิทัศน์สวยงามและเป็นไปตามแผนปรับปรุงภูมิทัศน์ กทม.ก้าวสู่การเป็นเมืองแห่งมหานครอาเซียน อีกทั้งยังช่วยในเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
หากโครงการแรกนี้ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่องประสบความสำเร็จด้วยดี ก็คาดว่าจะมีโอกาสพัฒนาต่อในเส้นทางอื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป ทั้งนี้คาดว่าเริ่มดำเนินงานได้ในช่วงต้นปี 60 และคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นไตรมาส 2/60
"ครั้งนี้ถือเป็นการแสดงถึงพลังของความสามัคคีของภาคเอกชนทั้ง 6 แห่ง ที่ได้พร้อมใจกันทำสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยของพวกเราทุกคน อีกทั้งยังเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ทั้งหมด โดยไม่ใช้งบประมาณจากภาครัฐ ก็เพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และที่สำคัญยังได้รับความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานของภาครัฐ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่สนับสนุนให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จและก้าวมาถึงจุดนี้ได้"พ.อ.เรืองทรัพย์ กล่าว