รมว.คลัง วอนเอกชนเร่งลงทุนช่วยเคลื่อนศก. หนุน GDP ไทยปี 60 โตได้เต็มศักยภาพ 4-5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 15, 2016 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา "เจาะลึกเศรษฐกิจและการไทย ในปี 2017" โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 มีโอกาสจะเติบโตได้มากกว่า 3.4% ซึ่งถือว่าเป็นทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีนี้ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ 3.3% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยถ้าจะให้โตเต็มศักยภาพควรอยู่ที่ระดับ 4-5% ดังนั้นการเติบโตในระดับดังกล่าวยังถือว่าต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพนั้นมองว่าทุกเครื่องยนต์ในภาคเศรษฐกิจจะต้องเดินไปพร้อมกัน แต่ขณะนี้เครื่องยนต์ตัวหนึ่งที่ติดขัดมานานหลายปี คือ การลงทุนของภาคเอกชน ที่มองว่ายังไม่เห็นการเพิ่มการลงทุนเท่าที่ควร แม้ภาครัฐจะออกมาตรการจูงใจทั้งด้านภาษี และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นและจูงใจให้ภาคเอกชนมีการลงทุนมากขึ้นก็ตาม

"การที่เศรษฐกิจไทยเติบโตในระดับ 3% ยังต่ำกว่าศักยภาพอยู่มาก การจะทำให้เต็มศักยภาพนั้นทุกเครื่องยนต์จะต้องเดินไปพร้อมๆ กัน แต่ขณะนี้เครื่องยนต์ 1 ตัวเกิดบอดมาหลายปี นั่นคือการลงทุน ที่ภาคเอกชนไม่ยอมลงทุนทั้งๆ ที่เราให้สิทธิประโยชน์มากมาย สิ่งนี้ทำให้เศรษฐกิจโตไม่เต็มศักยภาพ" รมว.คลัง กล่าว

พร้อมระบุว่า การที่ภาคเอกชนยังไม่เริ่มตัดสินใจลงทุนโดยมองว่าขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาเหมาะสมสำหรับการลงทุนนั้น แท้จริงแล้วภาคเอกชนควรมองว่าในขณะนี้เป็นโอกาสและเป็นจังหวะดีที่จะเริ่มลงทุน และใช้เวลาในการปรับตัวก่อนที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวกลับมา เพราะถ้าเริ่มในช่วงที่เศรษฐกิจโลกฟื้นขึ้นมาแล้ว การแข่งขันในเวทีโลกจะทวีความรุนแรงขึ้นจนทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถแข่งขันได้

"เวลาพูดถึงการลงทุน มันไม่ใช่แค่เรื่องขยายการลงทุน แต่เป็นการลงทุนเพื่อปฏิรูปตัวเอง ปรับตัวให้สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้...ในเมื่อตอนนี้ดอกเบี้ยถูก รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์มากมาย การกู้ก็ทำได้ง่ายทำไมไม่ลงทุน ภาคเอกชนกลับมองว่าตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะลงทุน เขาไม่ได้มองไปไกลๆ ว่าในขณะนี้ควรจะต้องปรับตัวและเป็นจังหวะดีที่สุดที่จะลงทุน เราห่วงมากว่าถ้าเป็นแบบนี้ระยะยาว เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นขึ้น ทุกประเทศพร้อมจะแข่งขันกัน คนเหล่านี้จะอยู่ได้หรือไม่ ถ้าอยู่ไม่ได้ก็จะเป็นภาระต่อเศรษฐกิจประเทศขนาดไหน ฝากภาคธุรกิจไปคิดดู" รมว.คลัง กล่าว

โดยปัจจุบันพบว่าการลงทุนของภาครัฐ เติบโตประมาณ 10% แต่ทั้งนี้การลงทุนของภาครัฐคิดเป็นสัดส่วนเพียง 6% ของ GDP เท่านั้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่มีสัดส่วนสูงถึง 18% ของ GDP แต่กลับพบว่าการลงทุนภาคเอกชนในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เติบโตเพียงแค่ 0.6% เท่านั้น

สำหรับสิ่งที่รัฐบาลจะทำได้ในขณะนี้ คือ การใช้แรงของภาครัฐเข้ามาช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยล่าสุดได้มีการจัดทำงบประมาณกลางปี 2560 เพิ่มเติมอีกกว่าแสนล้านบาท โดยจะมีการกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มจังหวัดทั้ง 18 กลุ่มทั่วประเทศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชนผ่านโครงการต่างๆ ที่แต่ละชุมชนจะดำเนินการ ซึ่งงบประมาณที่ลงไปในส่วนนี้ เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีหน้าให้เพิ่มขึ้นได้อีก 0.2-0.3%

อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ฐานะการคลังของไทยยังมีความเข้มแข็ง หนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ 42% ของ GDP ทำให้รัฐบาลยังสามารถขยายการทำนโยบายการคลังได้อีกมาก แต่รัฐบาลจะพยายามทำให้เกิดความคุ้มค่ากับประเทศมากที่สุด เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็มีโครงการช่วยเพิ่มศักยภาพความเข้มแข็งให้กับระดับกลุ่มจังหวัด โดยมองว่าในปีหน้าเม็ดเงินในส่วนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะมีการเบิกจ่ายและลงไปสู่ระบบประมาณ 2.2 แสนล้านบาท และยังมีเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีกประมาณ 4 แสนล้านบาท รวมกับเงินอีกแสนกว่าล้านบาทที่ลงไปสู่กลุ่มจังหวัด ก็จะเป็นส่วนช่วยหนุนให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีหน้าเติบโตได้ดีกว่าปีนี้แน่นอน แม้ภาคเอกชนจะยังไม่เริ่มขยายการลงทุนก็ตาม

"สศค.ประเมินว่า แม้ไม่มีโครงการใหม่ๆ เข้าไม่ ไม่มีโครงการที่เรา Front Load อีกแสนกว่าล้านให้กลุ่มจังหวัด ก็คิดว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.4% จากปีนี้ที่โต 3.3% แน่นอน แต่ถ้าเรารวมโครงการเหล่านี้ลงไป ก็เชื่อว่าต้องบวกไปอีก 0.2-0.3% แต่ก็ยังไม่ถึง 4% ที่เราอยากเห็น แต่จะเห็นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนเห็นว่ามีความจำเป็น และลงไปช่วยกัน" นายอภิศักดิ์ระบุ

รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ส่งเสริมการมี New S Curve ใน 5 อุตสาหกรรมเดิม และ 5 อุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยมีศักยภาพ ขณะเดียวกันจะพยายามผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนามากขึ้น และเป็นการวิจัยและพัฒนาที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้จริง ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งรัฐบาลจะให้การสนับสนุนในด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเชื่อว่าเมื่อมีมาตรการนี้ออกมาก็จะทำให้การวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ตอบสนองความต้องการของตลาด และถือเป็นมิติใหม่ที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การวิจัยอย่างเต็มรูปแบบ และทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้

"เรากำลังจะออกแบบเรื่องนี้ และคงผ่านครม.ได้ในไม่นาน โดยจะเน้นเรื่องการวิจัยของประเทศให้เป็นเรื่องเป็นราว จะทำให้เอกชน มหาวิทยาลัย และให้รีซอร์สเซอร์ของรัฐบาลร่วมกันอยู่ในคลัสเตอร์เดียวกัน จะแบ่งการวิจัยเป็น 5 คลัสเตอร์ใหญ่ คือ อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ไบโอเคมีคอล เป็นต้น เราจะแก้ปัญหาที่การวิจัยถูกขึ้นหิ้ง โดยจะให้ demand หรือความต้องการเป็นตัวนำการวิจัย กล่าวคือ ให้เอกชนไปคุยกับมหาวิทยาลัย คุยกับนักวิจัยว่าเขาต้องการอะไร และให้นักวิจัยได้วิจัยขึ้นมา กระทรวงคลังก็พร้อมจะให้สิทธิประโยชน์ 2 เท่า ขณะที่บริษัทเล็กๆ ก็รวมทุนกันเพื่อทำการวิจัยได้ และไปแชร์กันได้ และนำไปหักภาษีได้ นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะสร้างขึ้นในอนาคตสำหรับประเทศไทย" รมว.คลัง กล่าว

แท็ก GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ