นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนา "เจาะลึกเศรษฐกิจและการเงินไทย ในปี 2017" โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 60 จะเติบโตในระดับ 3.5-4.0% ซึ่งดีกว่าในปีนี้แน่นอน โดยมีปัจจัยมาจากภายในประเทศ และภายนอกประเทศ
สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้นมองว่าในปีหน้าภาวะภัยแล้งจะคลี่คลายลง ขณะที่ราคาน้ำมันเริ่มฟื้นตัวขึ้น มีผลดีไปถึงสินค้าเกษตรบางชนิด เช่น ยางพารา ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อของภาคเกษตรกรดีขึ้น และส่งผลดีในภาพรวมต่อกำลังซื้อภายในประเทศ นอกจากนี้ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐก็มีส่วนด้วยเช่นกัน ส่วนปัจจัยจากต่างประเทศ มาจากเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว และทำให้เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น
"ปัจจัยหลักที่ช่วยเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีหน้า มาจากปัจจัยภายนอกที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้น ส่วนปัจจัยในประเทศนั้น กำลังซื้อขยับดีขึ้นได้ เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรเริ่มดีขึ้น ภาคการท่องเที่ยวก็เข้ามาช่วย รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ก็เป็นอีกตัวที่จะช่วยทำให้เศรษฐกิจในประเทศหมุนเวียนได้ดีขึ้น" ประธาน ส.อ.ท.ระบุ
ส่วนในภาคการส่งออกนั้น มองว่าในปีหน้าจะเติบโตในระดับ 0-1% ซึ่งดีกว่าปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ -1 ถึง 0% โดยเงินบาทที่อ่อนค่าได้ส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย
อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลต่อแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ทั้งในเรื่องของมาตรการกีดกันทางการค้า รวมทั้งการจัดการด้านแรงงาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังต้องคอยติดตามว่าจะมีผลกระทบต่อไทยในแง่ใดบ้าง
ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นั้น มองว่าไม่น่าจะมีผลกระทบต่อไทยมาก เพราะตลาดได้รับรู้ข่าวนี้ไปค่อนข้างมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา
"การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แทบจะไม่มีผลอะไร เพราะทุกคนได้รับรู้ข่าวนี้ไปหมดแล้ว อีกอย่าง ตอนนี้บาทอ่อน ซึ่งการส่งออกเราก็น่าจะโอเค...แต่ที่กังวลคือนโยบายใหม่ของทรัมป์ เช่น มาตรการกีดกันทางการค้า การแก้ปัญหาแรงงาน ซึ่งต้องคอยติดตามว่าจะกระทบอะไรกับเราบ้าง" นายเจนกล่าว
ด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกวันนี้ หากใครที่กล้าฟันธงได้ ถือว่ามีความกล้าหาญมาก เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยมองว่าในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับโจทย์ที่สำคัญใน 4 ด้าน คือ 1.ความผันผวน 2.ความไม่แน่นอน 3.ความซับซ้อน และ 4.ความคลุมเครือ
โดยยกตัวอย่างไว้กับสถานการณ์ของธุรกิจพลังงานในปีนี้และปีหน้าว่า ในเรื่องแรกความผันผวน จะพบว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเคยปรับขึ้นไปสูงกว่า 100 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ขณะเดียวกันก็เคยลงไปสู่ระดับต่ำสุดในต้นปีนี้มาแล้วที่ 26 ดอลลาร์/บาร์เรล และล่าสุดการประชุมของกลุ่มโอเปกที่มีข้อตกลงจะลดกำลังการผลิตน้ำมันลง ก็ได้ช่วยกระตุกราคาน้ำมันในตลาดโลกให้ปรับขึ้นมาได้ ขณะที่กลุ่มนอนโอเปกก็ประกาศจะลดกำลังการผลิตลงเช่นกัน ซึ่งเมื่อรวมทั้ง 2 กลุ่มแล้ว ทำให้ลดกำลังการผลิตลงได้ถึง 1.7 ล้านบาร์เรล/วัน
"ที่ผ่านมาราคาน้ำมันลงไปเยอะ เพราะกำลังการผลิตเกินกว่าความต้องการ 2 ล้านบาร์เรล/วัน พอทยอยลดกำลังการผลิตลง ราคาน้ำมันก็เด้งขึ้นไปที่ 50 ดอลลาร์ ดังนั้นเราเห็นความผันผวนของราคาค่อนข้างมาก ต้นปีอยู่แค่ 20 กว่าดอลลาร์ แต่ปลายปีน่าจะอยู่ที่ 50 กว่าดอลลาร์ ซึ่งหวังว่าราคาน้ำมันในระดับ 50 กว่าดอลลาร์นี้ น่าจะรองรับการพัฒนาและความต้องการใช้ที่จะเติบโตควบคู่ไปด้วยกันอย่างสมดุล"นายเทวินทร์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ถ้าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ระดับนี้และรัฐบาลยังมีนโยบายที่ไม่เปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องของภาษี และกองทุนน้ำมันฯ ก็เชื่อว่าราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศก็จะยังอยูในระดับที่ไม่แตกต่างไปจากปัจจุบันมากนัก
เรื่องที่สองความไม่แน่นอน เป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจกำลังเผชิญอยู่กับ Disruptive Technology หรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลก ซึ่งส่งผลให้เกิดความยากลำบากต่อการวางแผนการดำเนินธุรกิจในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น การที่พลังงานไฟฟ้าจะเริ่มเข้ามาแทนพลังงานน้ำมันและก๊าซ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Car ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องติดตามว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีความยั่งยืนหรือไม่
"คงต้องติดตามว่าเทคโนโลยี ที่ Disrupt คนอื่นเขามาก จะถูกคนอื่นเขา Disrupt ต่อหรือไม่ ดังนั้นการวางแผนกลยุทธ์หรือการวางแผนธุรกิจต่อไป อาจต้องหาทฤษฎีใหม่ เพราะการวางแผนระยะยาวเกินไป และลงทุนขนาดมากๆ ที่ต้องรอ payback ระยะยาวถือว่าเสี่ยงมาก" นายเทวินทร์ กล่าว
โดยยกตัวอย่างธุรกิจด้านพลังงานที่มีความเสี่ยง เช่น การสำรวจและพัฒนาในแหล่งทะเลน้ำลึก ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล และใช้ระยะเวลานานในการพัฒนา ซึ่งในระหว่างที่ลงทุนนั้นราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่เมื่อปีที่แล้วราคาน้ำมันดิ่งลงไปที่ 40 ดอลลาร์/บาร์เรล จึงทำให้ธุรกิจประสบปัญหา เพราะได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว
เรื่องที่สามความซับซ้อน ซึ่งเป็นความซับซ้อนระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์ ซึ่งทำให้เกิดความไม่แน่ใจในความต้องการที่แท้จริงว่าต้องการจะให้ธุรกิจไปสู่จุดใด เช่น ความต้องการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความต้องการจะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอยู่ด้วย เช่น ปัจจุบันประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งกระทรวงพลังงานเห็นว่าควรจะลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติลงและหันไปเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้ามาทดแทน แต่สิ่งเหล่านี้เดินหน้าไปได้ช้ามาก เนื่องจากความเห็นที่แตกต่างของสังคมว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจพลังงานและความเสี่ยงในการมีพลังงานใช้ในอนาคต
"ความซับซ้อนตรงนี้ ทำให้การตัดสินใจดำเนินธุรกิจเป็นไปได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าจะเดินไปตรงไหนถึงจะถูกต้อง ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับว่าระหว่างทางเดินนั้น จุดสมดุลย์อยู่ตรงไหน เรื่องนี้เมืองไทยกำลังเผชิญอยู่ และทำให้แผนพัฒนาพลังงานได้รับผลกระทบ" นายเทวินทร์ กล่าว
เรื่องที่สี่ ความคลุมเครือ โดยยกตัวอย่างเรื่องทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศไทยที่ใกล้จะหมดจากอ่าวไทย ซึ่งสัมปทานจะหมดอายุลงในอีก 6-7 ปีหน้านี้ ได้เกิดความคลุมเครือว่าจะควรจะให้สัมปทานภาคเอกชนทำต่อไป หรือรัฐบาลจะทำเอง ซึ่งยังเป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันอยู่ในสังคม โดยสิ่งที่ได้รับผลกระทบและเกิดขึ้นแล้วคือ ผลกระทบต่อการผลิตในประเทศที่ลดน้อยลงจากการลงทุนที่หยุดชะงักจากความไม่แน่นอน ซึ่งอาจทำให้มีแนวโน้มที่จะต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศมากขึ้น
นายเทวินทร์ กล่าวว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามหาแนวทางในการรองรับความเสี่ยงดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้น โดยล่าสุดเห็นว่าการรอให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอาจจะไม่ทันการ ดังนั้นจึงได้ลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เช่น การลงทุนวางท่อก๊าซเพิ่มเติม การลงทุนในคลังรับก๊าซธรรมชาติเหลวเข้ามาจากต่างประเทศเพิ่มเติม
"สิ่งที่จะช่วยในแง่เศรษฐกิจอย่างหนึ่ง คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในด้านนี้ค่อนข้างเยอะมาก ทั้งระบบท่อ ระบบคลัง ทั้งคลังบนบก และคลังลอยน้ำ เพราะเราต้องเตรียมการรองรับการนำเข้า แต่ข่าวร้ายคือเวลานำเข้ามา เงินที่ออกไปคือออกไป 100% แต่ถ้าเราซื้อของจากในประเทศที่มีการผลิตและพัฒนาขึ้นเองจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้มากกว่า" นายเทวินทร์ กล่าว
พร้อมกันนี้ ยังประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศด้วย จากนี้จนถึงช่วงสิ้นปีราคาน้ำมันในประเทศอาจจะขยับขึ้นอีกเล็กน้อย ตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีทิศทางเริ่มขยับขึ้น โดยคาดว่าในปีนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40 กว่าดอลลาร์/บาร์เรล ในขณะที่ปี 60 ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบจะขยับขึ้นไปอยูที่ระดับ 50-55 ดอลลาร์/บาร์เรล
"ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันได้ขึ้นไปเพื่อสะท้อนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ขึ้นมาเยอะตั้งแต่ช่วงปลายพ.ย.-กลาง ธ.ค. ซึ่งกลุ่มโอเปก และนอนโอเปก ได้ลดกำลังการผลิตลงไป 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน...ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกคงไม่สูงไปกว่านี้มากแล้ว เพราะสต็อกก็ยังมีอยู่ ถ้าจะขยับขึ้นคงไม่ขึ้นไปมากกว่านี้เท่าไรนัก" นายเทวินทร์ ระบุ
ด้านนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการ เอสซีจี กล่าวว่า ธุรกิจของเอสซีจีมียอดขายหลักมาจากกลุ่มปิโตรเคมิคอล ถึง 50% รองลงมาเป็นกลุ่มซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง 35% ส่วนอีก 15% ที่เหลือเป็นกลุ่มแพ็คเกจจิ้ง โดยมองว่าในปี 60 ตัวหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งหากมีเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐลงมาในส่วนนี้ราว 2 แสนล้านบาท ก็คาดว่าจะต้องใช้ปูนซีเมนต์ประมาณ 5 แสนตัน - 1 ล้านตัน หรือคิดเป็น 2.5% ของตลาด ดังนั้นจึงต้องจับตาว่าโครงการดังกล่าวจะทยอยเกิดขึ้นได้จริงในปีหน้าตามแผนการก่อสร้างที่วางไว้หรือไม่ เพราะจุดนี้จะเป็นตัวทำให้การก่อสร้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มมากขึ้น
"โครงการ Infrastructure เมื่อมีการลงทุนแบบนี้ จะมี Multiplying Effect เช่น ลง Infrastructure ไป 1 จะไปโตเป็นบ้านได้ 2-3 ซึ่งจริงๆ แล้วปูนซิเมนต์และวัสดุก่อสร้างจะใช้เยอะจริงๆ กับบ้าน ดังนั้นที่ต้องดูยาวๆ คือ Multiplying Effect จะมีมากขนาดไหน แต่ถ้ามี inventory ของบ้านอยู่แล้ว Effect ตรงนี้จะน้อย" นายรุ่งโรจน์ กล่าว