นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ กรรมการและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) หรือ SMC เปิดเผยว่า บริษัท นิติบุคคลเฉพาะกิจ บตท. (9) จำกัด (ซึ่ง บตท.ถือหุ้นอยู่ 49% ของทุนจดทะเบียน) ได้มีการออกหุ้นกู้ใหม่ภายใต้โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (securitization) มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท ให้กับผู้ลงทุนสถาบันและ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ไปเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเป็นหุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิ มีประกันบางส่วน (บตท.ค้ำประกันหุ้นกู้ 90%) และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ หุ้นกู้ดังกล่าวมีอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.24% ต่อปี โดยผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับชำระดอกเบี้ย พร้อมกับทยอยได้รับชำระคืนเงินต้นทุกเดือนตลอดอายุหุ้นกู้
ทั้งนี้ หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ AA- โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง ซึ่งการระดมทุนในครั้งนี้จัดว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ได้รับผลตอบรับที่ดีจากนักลงทุน สามารถพัฒนาโครงสร้างของโครงการให้ก้าวเข้าสู่สากลมากขึ้น และยังสอดคล้องกับพันธกิจองค์กร โดย บตท.ได้แต่งตั้งให้ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้
ด้านนายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การเสนอขายหุ้นกู้ภายใต้โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (securitization) ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 ของบตท. ซึ่งปัจจุบันเป็นรายเดียวในตลาดที่มีการเสนอขายหุ้นกู้ประเภทดังกล่าว
โดยการเสนอขายครั้งนี้ นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ทั้งในด้านมูลค่าเสนอขายสูงสุดนับตั้งแต่ บตท. ดำเนินการระดมทุนผ่านโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ครั้งแรกใน พ.ศ.2545 รวมถึงเริ่มมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการค้ำประกัน ตามที่ บตท.มีความมุ่งหวังว่าจะพัฒนารูปแบบของตราสารให้เข้าสู่ความเป็นสากลมากขึ้น ซึ่งยังคงได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในความเสี่ยงของนักลงทุนต่อตราสาร Securitization ที่ดีขึ้น และเป็นการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของประเทศไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ การได้มูลค่ารวมสูงถึง 6,000 ล้านบาท ท่ามกลางความผันผวนของตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศ นับเป็นเรื่องที่ท้าทายมากในตลาดปัจจุบันสำหรับหุ้นกู้ securitization รุ่นอายุ 5 ปี โดยเฉพาะเนื่องจากเป็นตราสารที่ซับซ้อนกว่าหุ้นกู้ปกติทั่วไป
อย่างไรก็ตาม การเสนอขายในครั้งนี้สามารถเพิ่มฐานของนักลงทุนทั้งในส่วนสถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่ โดยมีทั้งฐานนักลงทุนเดิมที่เคยลงทุนในตราสารของ บตท.อยู่แล้ว รวมถึงนักลงทุนสถาบันที่ยังไม่เคยลงทุนในตราสารประเภทนี้มาก่อน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่มีต่อ บตท. และคาดว่า บตท.จะสามารถระดมทุนโดยตราสาร securitization ได้อย่างประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นไปในอนาคต