ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้เฟดขึ้นดอกเบี้ยกระทบไทยไม่มาก โอกาสกนง.หั่นดอกเบี้ยน้อยลง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 15, 2016 14:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะอยู่ในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ขณะที่ทุนสำรองฯ และยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดก็อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง

"แม้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด อาจจะไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทยในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า แต่ต้องยอมรับว่า วัฏจักรการคุมเข้มดอกเบี้ยของเฟดคงส่งผลให้โอกาสความเป็นไปได้ที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปลดน้อยลงไปมาก" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ขณะที่วัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่มีความชัดเจนมากขึ้น อาจสร้างความผันผวนต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศในตลาดเกิดใหม่ อาจเผชิญกับข้อจำกัดในการใช้นโยบายการเงิน เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่เฟดคงทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงหลายเดือนข้างหน้า อาจส่งผลให้ประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเปราะบาง มีโอกาสเผชิญกับผลกระทบจากภาวะเงินทุนไหลออก (ค่าเงินอ่อน เงินเฟ้อสูงขึ้น และมีพื้นที่ผ่อนคลายนโยบายการเงินเหลืออีกไม่มาก) ซึ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ คงได้แก่ ประเทศมาเลเซีย เนื่องจากมีระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไม่สูงนักเมื่อเทียบกับภาระต่างประเทศ รวมทั้งมีระดับการถือครองพันธบัตรรัฐบาลโดยนักลงทุนต่างชาติที่ค่อนข้างสูง (ประมาณ 39%)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินในเบื้องต้นว่า เฟดน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1-2 ครั้งในปีหน้า เนื่องจากโมเมนตัมการฟื้นตัวที่ค่อนข้างดีในระดับที่ใกล้ศักยภาพในระยะยาวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เฟดยังมีความจำเป็นต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ให้กลับเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น (Policy Normalization) อย่างไรก็ดี กระบวนการเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงินของเฟด คงเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีความเป็นไปได้ว่า เฟดอาจเว้นระยะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงต้นปี 2560 เพื่อรอประเมินผลตอบรับของตลาดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบ ธ.ค. นี้ ตลอดจนรอดูแนวทางที่ชัดเจนของมาตรการทางการคลังภายใต้รัฐบาลของ นาย โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะส่งผลบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2560 เพิ่มเติมจากระดับ 2.1% ที่เฟดคาดการณ์ไว้ มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ตัวแปรเศรษฐกิจโลก อาทิ ปัจจัยทางการเมืองในยุโรป การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และแนวนโยบายการค้าของทรัมป์กับประเทศอื่นๆ ก็อาจมีผลทางอ้อมต่อการเลือกจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้าด้วยเช่นกัน

ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตลาดการเงินในหลายๆ ส่วนน่าจะมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ผันผวนไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากนักลงทุนอาจต้องการเวลาในการซึมซับมุมมองอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และประเมินจังหวะที่ชัดเจนของการขึ้นดอกเบี้ยเฟดในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ