ส.อ.ท.-พาณิชย์หนุนผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ FTA ขยายการค้า-ลงทุนเอเชียใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 15, 2016 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.สิริพรรณ ลิขิตวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการค้าและการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยภูมิภาคที่จะมองข้ามไม่ได้ คือ ภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งมีประชากรจำนวนมากถึง 1 ใน 4 ของโลก หรือกว่า 1,600 ล้านคน มีมูลค่าผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) รวมในปี 59 กว่า 2,700 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่า GDP จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 60 ดังนั้น ภูมิภาคเอเชียใต้จึงนับว่าเป็นตลาดยุทธศาสตร์ที่ประเทศไทยจะต้องมุ่งเป้าและจับตาอย่างเป็นพิเศษ ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ รถยนต์และส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากภูมิภาคเอเชียใต้ ประกอบไปด้วย เคมีภัณฑ์ เพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รวมถึงสัตว์น้ำสดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป เป็นต้น

“หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้เป็นประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา และปากีสถาน ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนแต่เป็นประเทศที่มีนโยบายสนับสนุนให้ไทยเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศอินเดียที่มองไทยเราเป็นประเทศศูนย์กลางของอาเซียน และในขณะเดียวกันประเทศไทยก็มองอินเดียเป็นประเทศศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชียใต้เช่นกัน ดังนั้น จึงทำให้เกิดความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดโอกาสด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับอินเดีย"น.ส.สิริพรรณ กล่าว

นอกจากไทยจะมีการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับประเทศสำคัญในภูมิภาคเอเชียใต้ ไม่ว่าจะเป็นความตกลงการค้าเสรีไทยและอินเดีย ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย และความตกลงการค้าเสรีที่อยู่ระหว่างการเจรจา คือ ความตกลงการค้าเสรีไทย-ปากีสถาน และความตกลงการค้าเสรี BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) แล้วนั้น กระทรวงพาณิชย์ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของความตกลงการค้าเสรีไทย-ศรีลังกา อีกด้วย

"การจัดสัมมนา “เปิดประตูเอเชียใต้ โอกาสการค้าของไทย" (ตลาดอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา และบังคลาเทศ) ในวันนี้ จึงเป็นเวทีสำคัญที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาทุกท่านได้มองเห็นโอกาสต่อการค้าและการลงทุนระหว่างกัน จนนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองต่อเศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืนและมั่งคั่งตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป"น.ส.สิริพรรณ กล่าว

ด้านนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าถึงตลาดแนวทางการขอรับสิทธิประโยชน์ทางการค้าและเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจไทยได้เห็นถึงศักยภาพ ความท้าทายด้านการค้าและการลงทุนของประเทศสำคัญในภูมิภาคเอเชียใต้ อาทิ ประเทศอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา และบังกลาเทศ

อีกทั้ง ยังเป็นเวทีที่ให้ภาคธุรกิจเห็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ที่ประเทศไทยมีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ ความ ตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย ซึ่งมีการเร่งลดภาษีสินค้า (Early Harvest Scheme: EHS) ไปแล้วจำนวน 83 รายการ อาทิ อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น, ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย ด้านการค้าสินค้าเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553 ซึ่งสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์จากความตกลง อาทิ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง และอาหารปรุงแต่ง เป็นต้น

ส่วนความตกลงการค้าเสรีซึ่งยังอยู่ระหว่างการเจรจากับประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ อาทิ ความตกลงการค้าเสรีไทย-ปากีสถานและความตกลงการค้าเสรี BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) โดยมีประเทศสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ ภูฏาน พม่า เนปาล และประเทศไทย เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ