รายงานข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดการณ์ทิศทางภาคอุตสาหกรรมสำคัญในปี 60 ว่าน่าจะมีแรงส่งที่ดีขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่น่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากปี 59 นำโดยการลงทุนภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว ด้านอุปสงค์ภายในประเทศนั้น การบริโภคและการใช้จ่ายภาคเอกชนคาดว่าจะเร่งขึ้นจากรายได้ของเกษตรกรที่ปรับดีขึ้นจากผลของราคาสินค้าเกษตรที่กลับมามีทิศทางขยายตัวได้อีกครั้ง ประกอบกับภาครัฐน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการลงทุนภาคเอกชน จะสามารถเติบโตได้ตามการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่เม็ดเงินลงทุนจะสามารถเข้าสู่ระบบได้มากยิ่งขึ้นในปี 60 รวมถึง การสนับสนุนการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย, การส่งเสริมการลงทุนภายใต้แผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (ECC), การส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับประเทศเข้าสู่ “ประเทศไทย 4.0"
ขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศ มีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าในปี 59 จากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้นของภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลก นำโดยการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นภายหลังจากการเลือกตั้ง
และอีกปัจจัยที่คาดว่าจะสนับสนุนความต้องการสินค้าในภาคอุตสาหกรรมก็คือ การท่องเที่ยวในปี 60 ที่ยังขยายตัวได้ดี โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 60 ไว้ที่ 2.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 59 ที่มีเป้าหมายรายได้ 2.4 ล้านบาท ซึ่งจะมีการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตราการยกเว้นค่าทำเนียมการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ 1,000 บาทต่อคนเป็นการชั่วคราวที่จะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้, การจัดรูปแบบกิจกรรมรื่นเริงต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และเข้ากับบรรยากาศของประเทศ เป็นต้น
ด้านปัจจัยต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย แนวโน้มการค้าโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่มีแนวโน้มกีดกันการค้า, การขอแยกตัวของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรป (Brexit), การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ที่อาจไม่เป็นไปตามคาดหมาย, ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนจากความแตกต่างขอนโยบายการเงิน การคลัง ในประเทศเศรษฐกิจแกนหลักของโลก รวมทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นต้น
ทั้งนี้ ทิศทางอุตสาหกรรมสำคัญในปี 60 ได้แก่ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง คาดว่าจะได้รับอานิสงส์การลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ.2559 (Action Plan) จำนวน 20 โครงการ วงเงิน 1,410,763.35 ล้านบาท รวมถึง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ในตลาดต่างจังหวัดโดยเฉพาะประตูการค้าชายแดน และการส่งออกวัสดุก่อสร้างไปยัง CLMV ขณะที่ปัจจัยเสี่ยง คือ การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่อาจล่าช้ากว่ากำหนดและหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอาจกระทบต่ออุปสงค์ในภาคที่อยู่อาศัย
ส่วนอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น การบริโภคเริ่มฟื้นตัวขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ และน่าจะมีการเติบโตตามการส่งเสริมการลงทุน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ย่อมก่อให้เกิดอุปสงค์ต่อสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น ด้านปัจจัยเสี่ยง คือ ผู้ประกอบการ SMEs เผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงของผู้ผลิตขนาดใหญ่, การขาดแคลนวัตถุดิบ
อุตสาหกรรมยานยนต์ คาดว่าปีหน้าจะมีการส่งออกรถยนต์ 1.22 ล้านคัน ยอดขายในประเทศจะเพิ่มเป็น 7.8 แสนคัน เนื่องจากรถยนต์ในโครงการรถคันแรกจะครบการถือครอง 5 ปีช่วงกลางปี 60 ทำให้คาดว่าจะมียอดซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น 1-2 หมื่นคัน และค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้นตามมาอีกมาก เพราะรถยนต์ในโครงการรถคันแรกที่มีกว่า 1.25 ล้านคันในจำนวนนี้คาดว่าจะเปลี่ยนรถรุ่นใหม่ 10-20% หรือประมาณ 1.25-2.5 แสนคัน ส่วนปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ, หนี้ครัวเรือนสูง, สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่า ยอดขายตลาดในประเทศจะดีขึ้นตามการขยายตัวของคอนโดมิเนียมและที่อยู่อาศัย ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนทยอยปรับตัวดีขึ้นตามรายได้เกษตรกรฟื้นตัว รวมทั้งการรองรับการขยายการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะตามการส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย (New Growth Engine) ขณะที่การส่งออกน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว โดยเฉพาะในสินค้าเครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า IC HDD เป็นต้น ด้านปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ยังไม่แน่นอน, การแข่งขันจากสินค้าของมาเลเซียและเวียดนาม, ความผันผวนของตลาดช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ตลาดในประเทศน่าจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับความต้องการเสื้อผ้าสีดำที่ขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 59 ส่วนแนวโน้มการส่งออกคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลกฟื้นแข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะอาเซียน ประกอบกับการส่งออกผ้าผืนไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านขยายตัวได้ดี ผู้ประกอบการก็มีการปรับปรุงคุณภาพของผ้าผืนให้มีคุณภาพดีขึ้น และสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในปี 60 อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยยังมีแนวโน้มที่จะหันไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเวียดนาม โอกาสการส่งออกจะเติบโต 2-3% หากเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญและเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยภายในปี 59 จะทำให้เงินทุนไหลออกอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงและเป็นปัจจัยให้การส่งออกเพิ่มขึ้นได้
ส่วนปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ จีนและไต้หวันเข้าไปลงทุนในสิ่งทอต้นน้ำในเวียดนาม อาจทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง โดยเฉพาะสินค้าเส้นด้าย ผ้าผืน เป็นต้น
อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก คาดว่าจะขยายตัวได้ตามความต้องการภายในประเทศจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่าง วัสดุก่อสร้าง,อาหารและเครื่องดื่ม, ยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมถึงภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไปยังสหรัฐน่าจะฟื้นตัวตามการคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวภายหลังจากการเลือกตั้ง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ เศรษฐกิจญี่ปุ่นการฟื้นตัวยังไม่แน่นอน รวมทั้งเศรษฐกิจจีนชะลอ
อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ คาดว่าปริมาณการใช้ในประเทศจะขยายตัวตามการใช้จ่ายและโครงการลงทุนภาครัฐ การขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมยานยนต์ ก่อสร้าง และเครื่องสำอาง ส่วนตลาดส่งออกน่าจะรักษาระดับการขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพราะสินค้าไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาด ขณะที่ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะชะลอตัวเพราะไทยมีสัดส่วนการส่งออกเคมีภัณฑ์ไปยังจีนสูง
อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ คาดว่าจะเติบโตตามการขยายตัวของโครงการคอนโดมิเนียมและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ตามแนวรถไฟฟ้า ส่วนตลาดต่างประเทศ มีแนวโน้มส่งออกไปยังตลาด CLMV มากขึ้น จากเดิมที่เน้นตลาดสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยสินค้าสำคัญที่น่าจะขยายตัวดีคือ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ไม้ เหล็ก และกลุ่มเครื่องนอน และตลาดใหม่อย่างประเทศเมียนมามีกำลังซื้อดี เพียงแต่กฎระเบียบยังไม่เอื้ออำนวยมากนัก โดยปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย และสหภาพยุโรป (อียู) จะออกกฎระเบียบเพื่อตรวจสอบที่มาของไม้ที่นำมาใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ไม่ให้ใช้ไม้จากการบุกรุกป่า
อุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและการเติบโตของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ บรรจุภัณฑ์พลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เป็นต้น ด้านการส่งออก คาดว่า ขยายตัวได้ตามการเติบโตของกลุ่มประทศ อาเซียน และ CLMV ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ความต้องการสินค้าที่มีจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร, กลุ่มประเทศในตะวันออกกลางมีการผลิตพลาสติกสำเร็จรูปเพื่อเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง คาดว่าจะมีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่องจากปี 59 ซึ่งมีแรงหนุนจากยอดขายในกลุ่มลูกค้าแถบ CLMV สำหรับตลาดในประเทศ หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด คาดว่าจะขยายตัวได้จากการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่าง ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ รวมทั้ง จำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง น่าจะส่งผลให้เครื่องหนังประเภทกระเป๋าและรองเท้ามียอดขายเพิ่มขึ้นได้อย่างช้าๆ
แนวโน้มอุตสาหกรรมรองเท้าคาดหวังว่าจะเติบโตขึ้นจากปีนี้ทรงตัว โดยมีปัจจัยหลายอย่างเป็นบวกทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่น่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว รวมถึงแรงซื้อในไทยจะดีกว่าปีนี้จากราคาสินค้าเกษตรฟื้นตามทิศทางน้ำมัน และแนวโน้มการยกเลิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เชื่อส่งผลดีต่อไทย ด้านปัจจัยเสี่ยง คือ การขาดแคลนแรงงานฝีมือ, ต้นทุนแรงงานที่สูง, ภาวะการแข่งขันที่สูง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน