นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึง ผลการประเมินนโยบายแผน และมาตรการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในช่วงปี 2556 ถึง 2559 ซึ่งผ่านความเห็นชอบไปแล้ว จำนวน 144 เรื่อง และ กพช. ได้มีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ จำนวน 193 มติ โดยการประเมินผลในครั้งนี้ สนพ. ได้คัดเลือกเรื่องสำคัญ ๆ ที่มีผลต่อภาคเศรษฐกิจ ภาคการลงทุน และเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน 5 เรื่อง ดังนี้
1) มาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT)
2) นโยบายการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน
3) แนวทางการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุในปี 2565 – 2566
4) แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 – 2579 (EEP 2015)
5) แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 (PDP 2015)
โดยการประเมินผลการดำเนินงานดังกล่าว สนพ. ได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ประเมิน โดยใช้หลักเกณฑ์ Five Criteria ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่องค์กรระหว่างประเทศเลือกใช้ โดยมีผลการประเมินฯ ดังนี้
มาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ FiT พบว่า สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีกำลังการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ณ เดือนกันยายน 2559 อยู่ที่ 2,142 เมกะวัตต์ (MW) จากเป้าหมาย 1,679 MW ในปี 2559 เนื่องจากรัฐได้ออกมาตรการจูงใจทางด้านราคา ทำให้มีผู้ลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก
มาตรการฯ ดังกล่าว ถือว่าประสบผลสำเร็จ และในอนาคตเห็นควรปรับรูปแบบการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และสะท้อนต้นทุนแท้จริง โดยใช้วิธีการแข่งขันภายใต้กลไกด้านราคา (Competitive bidding)
สำหรับนโยบายการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน โดยปรับลดอัตราสำรองของน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป จาก 6% เหลือ 1% ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ถังเก็บ และลดต้นทุนของผู้ค้าน้ำมัน ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดค้าปลีกน้ำมันมากขึ้น มีผู้ค้าน้ำมันอิสระรายใหม่ ๆ เข้ามาเป็นผู้เล่นและลงทุนมากขึ้น ซึ่งพบว่านโยบายดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น และในส่วนของการแข่งขันด้านคุณภาพบริการ แม้ว่าการแข่งขันด้านราคาจะมีข้อจำกัดในหลายพื้นที่ สำหรับในอนาคตทางกรมธุรกิจพลังงาน กำลังศึกษาประเด็นความเป็นไปได้ในการแยกระหว่างการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ และการสำรองน้ำมันเพื่อการค้า โดยการสำรองน้ำมันเพื่อการค้าควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดเต็มรูปแบบ
แนวทางการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุในปี 2565-2566 การดำเนินงานล่าช้ากว่าแผน ด้วยเพราะเกิดความล่าช้าจากการขยายระยะเวลาพิจารณาพ.ร.บ.ด้านปิโตรเลียม ทั้ง 2 ฉบับ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการตามมติ กพช. ได้ภายในปี 2560 ซึ่งหากล่าช้ากว่ากำหนด รัฐอาจจะต้องวางปรับแผนนำเข้า LNG เพื่อมาทดแทนปริมาณก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ผลิตได้ลดลง
แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 – 2579 (EEP 2015) ในปี 2559 มีเป้าหมายประหยัดพลังงานอยู่ที่ 1,892 ktoe ซึ่งพบว่า ผลประหยัด (ไม่รวมภาคขนส่ง) ยังไม่เป็นไปตามเป้า โดย ณ เดือนพฤษภาคม 2559 อยู่ที่ 636 ktoe จาก 833 ktoe เนื่องจากโครงการที่ได้รับอนุมัติภายใต้มาตรการสนับสนุนทางการเงินอยู่ระหว่างดำเนินการ รวมทั้งในช่วงสถานการณ์ราคาพลังงานขาลง ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการอนุรักษ์พลังงานขาดความน่าสนใจ จึงยังไม่สามารถเกิดผลประหยัดได้ นอกจากนี้ มาตรการภาคขนส่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินงาน ทำให้ยังไม่มีผลประหยัดเป็นรูปธรรมในปี 2559 รวมทั้งมาตรการดังกล่าวเป็นการขอความร่วมมือ ซึ่งทำให้ไม่สามารถเร่งรัดผลักดันให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้น รัฐควรมีการปรับกลยุทธ์เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาพลังงาน โดยอาจพิจารณาให้ความสำคัญกับการใช้มาตรการภาคบังคับมากขึ้น
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 (PDP 2015) พบว่า การกระจายเชื้อเพลิง และลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้า ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ณ เดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ 64% สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 59% เนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ ซึ่งเกิดจากการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (โรงไฟฟ้าหงสา) ยังต่ำกว่าเป้าหมาย รัฐควรมีการทบทวนการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน มีการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการมีโรงไฟฟ้าในพื้นที่ รวมทั้งบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ
อย่างไรก็ดี เพื่อให้การดำเนินงานตามมติ กพช. บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ สนพ. จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบติดตามและสืบค้นมติที่ได้รับการอนุมัติจาก กพช. โดยมีการให้บริการผ่านเว็บไซต์ของ สนพ.(www.eppo.go.th) สำหรับเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ และหน่วยงานต่างๆ สามารถเข้ามาตรวจสอบข้อมูลมติ กพช. เพื่อนำไปปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมรายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน เพื่อ สนพ. จะได้รวบรวมนำเสนอ กพช. ตามขั้นตอน ซึ่งจะช่วยเร่งรัดและกำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบาย แผน และมาตรการที่วางไว้ต่อไป