พาณิชย์ เชื่อส่งออกข้าวปีนี้ทะลุเป้า 9.5 ล้านตัน เร่งจัดการข้าวในสต็อกสร้างความมั่นใจให้ตลาดปี 60

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 19, 2016 14:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในภาพรวมขณะนี้มีแนวโน้มดีขึ้น โดยตั้งแต่เดือนม.ค.-14 ธ.ค.59 มีการยื่นขออนุญาตส่งออกข้าวแล้วประมาณ 9.3 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 4,173 ล้านเหรียญสหรัฐ (146,191 ล้านบาท) ซึ่งเมื่เปรียบเทียบกับปริมาณการส่งออกข้าวในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 2% และคาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวในปี 2559 ทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ที่ปริมาณ 9.5 ล้านตัน

โดย 5 อันดับแรกของประเทศที่นำเข้าข้าวจากไทยสูงสุด คือ เบนิน, จีน, โกตดิวัวร์, แอฟริกาใต้ และแคเมอรูน ส่วนชนิดข้าวที่ส่งออกมากที่สุด คือ ข้าวขาว มีสัดส่วน 50% ของการส่งออกรวม ข้าวหอมมะลิไทยประมาณ 25% นอกนั้นเป็นข้าวนึ่ง, ข้าวเหนียว และข้าวปทุมธานี โดยปีนี้ข้าวหอมมะลิมีสัดส่วนในการส่งออกเพิ่มจาก 1.5 ล้านตัน เป็นประมาณ 2 ล้านตัน เนื่องจากราคาสามารถแข่งขันได้

นางดวงพร กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ด้านราคามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาข้าวไทยขยับตัวสูงขึ้น และยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการเจรจาราคากับ COFCO รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับการส่งมอบข้าวแสนตันที่ 2 ในเดือน ม.ค.-ก.พ.60 ตามสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ภายใต้ MOU ไทย-จีน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวไทยในปี 2560 เพราะมีตลาดรองรับตั้งแต่ต้นปี

สำหรับกรณีที่กระทรวงพลังงานได้ให้ข้อมูลผ่านสื่อเกี่ยวกับการนำข้าวจากสต็อกไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมพลังงานนั้น อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทยอยระบายข้าวในสต็อกของรัฐทั้งเพื่อการบริโภคและระบายสู่อุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องตามจังหวะและโอกาสที่ตลาดเอื้ออำนวย โดยคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีแนวทางชัดเจนให้ระบายโดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดและราคาที่เกษตรกรจะได้รับ จนกระทั่งปัจจุบันรัฐบาลมีข้าวคงเหลือในสต็อกของรัฐประมาณ 8 ล้านตัน ในหลักการ นบข. เคยมีมติให้นำข้าวเสื่อมคุณภาพที่ไม่เหมาะสมกับการบริโภคทั่วไปเข้าสู่อุตสาหกรรมแปรรูปได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการประมูลเข้าสู่อุตสาหกรรมที่เหมาะสมมาเป็นระยะ

อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ข้าวคงเหลือในสต็อกของรัฐส่วนใหญ่เป็นข้าวที่มีอายุการเก็บรักษาเกินกว่า 5 ปี บางส่วนเป็นข้าวที่ถูกตรวจพบว่าเสื่อมสภาพมาตั้งแต่แรก บางส่วนแม้จะได้นำออกมาประมูลแล้วแต่ก็ไม่สามารถขายได้เพราะไม่มีผู้ยื่นเสนอซื้อ หรือเสนอซื้อในราคาที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งในการประมูลข้าว 23 ครั้งที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศได้นำข้าวออกประมูลถึง 17.38 ล้านตัน จำหน่ายได้ 8.48 ล้านตัน ส่วนที่เหลือยังขายไม่ได้เพราะไม่ผ่านเกณฑ์ราคาและบางส่วนไม่มีผู้ยื่นเสนอซื้อดังกล่าว

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงข้างต้น ข้าวที่เหลืออยู่และมีอายุการเก็บเกิน 5 ปี จึงมีความเสื่อมสภาพลง และเป็นภาระที่ภาครัฐต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาและดอกเบี้ย ประกอบกับผลผลิตข้าวที่ออกสู่ตลาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีปริมาณมาก สต็อกข้าวที่อยู่ในมือของผู้ประกอบการในตลาดจึงมีปริมาณมาก ข้าวคงเหลือในสต็อกของรัฐจึงเป็นภาระส่วนเกินที่กดทับตลาดและส่งผลกระทบทางจิตวิทยาเชิงลบต่อตลาดข้าวและไม่เป็นผลดีต่อการค้าข้าวไทยในภาพรวม

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของแนวคิดในการพิจารณาถึงการนำข้าวเสื่อมคุณภาพไปเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงาน โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพลังงานจะร่วมกันประมวลข้อมูลให้สถาบันที่เป็นหน่วยกลางที่ นบข. มอบหมายทำการศึกษาวิธีการ เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสม โดยจะยังคงยึดหลักการที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อราคาข้าวและผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ที่อุตสาหกรรมนั้นใช้อยู่ ซึ่งหากสามารถนำข้าวดังกล่าวออกระบายสู่อุตสาหกรรมที่มิใช่เพื่อการบริโภค โดยมีการศึกษาในรายละเอียดและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยปฏิบัติสามารถดำเนินการได้อย่างโปร่งใส รอบคอบ และรัดกุม ก็คาดว่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วน ทั้งนี้ นบข.จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการระบายข้าวในต้นเดือนมกราคม 2560 ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ