ธนาคารโลก ปรับคาดการณ์ GDP ไทยปี 60 ขยายตัวเพิ่มเป็น 3.2% จากเดิม 3.1% เชื่อการส่งออกฟื้นโตราว 1% พร้อมแนะไทยปฏิรูปภาคบริการดันเศรษฐกิจโตได้ตามศักยภาพไม่ต่ำกว่า 4%
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก เปิดเผยว่า ธนาคารโลกได้ปรับคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 60 เป็น 3.2% จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 3.1% โดยได้รับปัจจัยหนุนอย่างต่อเนื่องจากการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศ และการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบกับความสำเร็จในการเริ่มโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะช่วยดึงดูดเงินลงทุนจากภาคเอกชนและเสริมสร้างภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมองว่าภาคการท่องเที่ยวจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงมาจากประเทศจีน ขณะที่ภาคการเกษตรเริ่มฟื้นตัวได้หลังผ่านพ้นสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนาน
ทั้งนี้มองว่าการส่งออกในปี 60 จะสามารถขยายตัวได้ราว 1% ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวของของเศรษฐกิจประเทศสหรัฐฯ โดยจะเห็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/59 ไตรมาส 4/59 และเชื่อว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องไปจนถึงปี 60 อย่างไรก็ตามยังคงต้องมีความระมัดระวัง เนื่องจากปัจจุบันยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกรณีอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)
"เรามีมุมมองที่ดีขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย หลังจากที่ปีนี้มีการฟื้นตัวที่ค่อนข้างดีในทุกๆภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคการลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐที่เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ภาคการเกษตร ก็ยังมีการฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี ซึ่งเราเชื่อว่าทุกภาคส่วนจะยังเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตในปี 60 นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ช่วยให้การส่งออกฟื้นตัวได้ซึ่งเห็นตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 59 และเชื่อว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องไปในปี 60"นายเกียรติพงศ์ กล่าว
นายเกียรติพงศ์ กล่าวต่อว่า หากประเทศไทยสามารถปฎิรูปภาคบริการได้ จะส่งผลให้ GDP ของไทยเติบโตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หรือเติบโตไม่ต่ำกว่า 4% โดยมองว่ายังมีโอกาสอีกมากที่จะนำภาคบริการมาเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ของเศรษฐกิจไทย โดยจะเห็นได้จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีการบริการด้าน IT ขณะที่ประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่มีการบริการด้านการศึกษา ทำให้ประเทศเหล่านี้มีการเติบโตของเศรษฐกิจค่อนข้างสูง
ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังต้องมีการพัฒนาด้านกฎระเบียบของตลาดบริการที่มีความเข้มงวดกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียนหรือภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งภาคบริการบางส่วนถูกกีดกัน และได้รับการคุ้มครองในการแข่งขันทั้งจากต่างชาติและภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคบริการด้านวิชาชีพ โดยประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มผลิตภาพและนวัตกรรมในภาคบริการได้หากได้รับการสนับสนุนทางกฎระเบียบข้อบังคับที่สร้างบรรยากาศในการประกอบธุรกิจ ส่งเสริมการแข่งขันและการร่วมมือทางการค้าที่มากยิ่งขึ้นผ่านการดำเนินการตามข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนของภาคบริการมีสัดส่วนถึง 50% ของ GDP และมีการจ้างงานสูงถึง 40% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด
"เรายังมองว่าประเทศไทยยังดีที่สุดใน AEC ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง แต่อย่างไรก็ตามยังต้องมีการพัฒนาด้านบริการให้มาเป็นปัจจัยใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และผลักดันให้สัดส่วนของภาคบริการให้ไม่ต่ำกว่า 70% ของ GDP และเปลี่ยนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว"นายเกียรติพงศ์ กล่าว
ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องหาปัจจัยใหม่มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคบริการเพื่อช่วยให้ประเทศได้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศมีรายได้สูง และการที่แรงงานวัยทำงานของไทยมีอายุสูงขึ้นนั้นจะเริ่มมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า ดังนั้นเพื่อที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขัน ประเทศไทยจะต้องดำเนินการปฎิรูปเศรษฐกิจในวงกว้างเพื่อวางรากฐานสำหรับอนาคตของประเทศในด้านต่างๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน และการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง
"เราเติบโตบนพื้นฐานเดิมมานานแล้ว ทำให้การเติบโตเป็นไปได้ยาก แต่หากเราสามารถดำเนินการได้ตามแผน โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะทำให้ภาคบริการเติบโต และจะช่วยให้ประเทศไทยกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง"นายกอบศักดิ์ กล่าว
ส่วนนายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่บนเส้นทางการฟื้นตัว การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคบริการจะช่วยสร้างแรงงานใหม่ที่ดีขึ้น รวมทั้งรายได้สูงขึ้นและมีโอกาสที่มากขึ้นสำหรับคนไทย ซึ่งการเปิดเสรีภาคบริการ และการทำให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอันจะช่วยให้มีทักษะที่สอดคล้องกับตำแหน่งงานในเศรษฐกิจสมัยใหม่นั้นจะเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพของภาคบริการ และช่วยเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่างต่อเนื่อง