ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งห้ามนำผลการตรวจสอบการประมูลการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ของกลุ่มกัลฟ์ ไปใช้หรืออ้างอิง แม้จะยกฟ้องหน่วยงานรัฐในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ศาลปกครองกลาง ได้เผยแพร่คำพิพากษากรณีที่บริษัท อินดิเพนเดนท์ เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ผู้ฟ้องคดีที่ 1) ,บริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด (ผู้ฟ้องคดีที่ 2) และบริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี จำกัด (ผู้ฟ้องคดีที่ 3) ได้ฟ้อง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ,สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ,กระทรวงพลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา กรณีการดำเนินการประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4)
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้ชนะประมูล IPP เมื่อปี 2555 และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ฟ้องคดีที่ 2 และ 3 จำนวน 5,400 เมกะวัตต์ โดยผู้ฟ้องคดีที่ 2 และ 3 ได้เป็นคู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งได้ลงนามสัญญาเมื่อเดือนธ.ค.56 ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ โรงไฟฟ้าในอ.ปลวกแดง จ.ระยอง ขนาด 2,500 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าในอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ขนาด 2,500 เมกะวัตต์
แต่ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดี หลังมีบางฝ่ายมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการประมูลโครงการ ซึ่งต่อมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้ามาตรวจสอบ โดยคตร.มีมติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตรวจสอบการประมูลโครงการที่พิพาทว่ามีความถูกต้อง โปร่งใสหรือไม่
ต่อมา คตร.มีมติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวให้เป็นไปตามขอบเขต Request for Proposals (REP) ขณะที่ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้มีหนังสือลับ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 5 มี.ค.58 รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินการประมูลโครงการพิพาท และเสนอความเห็น โดยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาโดยการเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ฟ้องคดีที่ 1 และบริษัท มิตซุย แอนด์ คัมปนี (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของผู้ฟ้องคดีที่ 2 และ 3 โดยอาจขอให้โรงไฟฟ้าจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายหลังจากปี 2567 เป็นต้นไป เนื่องจากปรากฎข้อมูลในช่วงปี 2559-2567 ว่าอาจมีปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง ที่สูงเกินความจำเป็น
คตร. มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 30 มี.ค.58 ติดตามการทบทวนสัญญาการประมูลโครงการที่พิพาท โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้แจ้งผลการตรวจสอบไปยังประธานคตร. และมีความเห็นว่าควรเจรจาตามข้อเสนอแนะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และได้มีคำสั่งลับลงวันที่ 17 เม.ย.58 แต่งตั้งคณะทำงานเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อแก้ไขปัญหา กรณีการดำเนินการประมูลโครงการที่พิพาท โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณีการดำเนินการประมูลโครงการดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อยุติที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ แต่ยังไม่อาจหาข้อยุติได้ เนื่องจากกลุ่มบริษัทผู้ฟ้องคดียังไม่รับข้อเสนอขอเจรจายกเลิกสัญญา 1 สัญญา แต่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นข้อเสนอเพื่อหาข้อยุติ ด้วยการแก้ไขสัญญา PPA ใน 2 เรื่อง คือ การเลื่อนกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตามสัญญาซื่อขายไฟฟ้า และการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับสถานีไฟฟ้า โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า TSU เป็นเงิน 5,900 ล้านบาท แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และ 4 ไม่รับข้อเสนอของผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 เพราะเป็นข้อเสนอที่ยังไม่ได้มาตรฐานตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีคาดหมายไว้
ผลของการตรวจสอบดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ โดยเฉพาะในส่วนของการเจรจากู้เงินเพื่อใช้ในโครงการ ซึ่งทางธนาคารไทยพาณิชย์ ได้มีความวิตกเป็นอย่างมากและได้ทำหนังสือสอบถามเรื่องดังกล่าว และต่อมาได้แจ้งแก่ผู้ฟ้องคดีว่าธนาคารไม่สามารถพิจารณาเงินกู้ได้ เพราะการประมูลโครงการที่พิพาทอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และในส่วนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการพิจารณาโดยอ้างจากการตรวจสอบการประมูลโครงการดังกล่าว ขณะที่ผู้ฟ้องคดีได้มีภาระค่าใช้จ่ายเพื่อปฏิบัติตามสัญญา PPA ไปแล้วเกือบ 7 พันล้านบาท
ศาลปกครองกลาง ระบุว่า คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยรวม 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ 1 การตรวจสอบการประมูลการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการ IPP และผลการตรวจสอบการประมูลการรับซื้อไฟฟ้า ตามโครงการที่พิพาทของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และมีเหตุที่ศาลจะต้องเพิกถอนการตรวจสอบการประมูลการรับซื้อไฟฟ้าและผลการตรวจสอบการประมูลการรับซื้อไฟฟ้า ตามโครงการที่พิพาทของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 หรือไม่อย่างไร
โดยศาลเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ มีอำนาจในการตรวจสอบการประมูลการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการ IPP ดังกล่าวภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของคตร. กล่าวคือ เพื่อดำเนินการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส และถูกต้องภายใต้กรอบงบประมาณของรัฐ ควบคู่กับการติดตามและตรวจสอบตามปกติของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่เป็นการดำเนินการภายในของฝ่ายปกครองโดยเฉพาะ ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จึงไม่อาจออกคำสั่งหรือดำเนินการหรือกระทำการใด ๆ อันส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม ไม่อาจฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลเพิกการดำเนินการตรวจสอบการประมูลการรับซื้อไฟฟ้าโครงการที่พิพาทได้ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการตรวจสอบ และผลการตรวจสอบการประมูลการรับซื้อไฟฟ้าโครงการที่พิพาทของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 แต่อย่างใด
ส่วนประเด็นที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ กระทำการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสาม หรือไม่ และศาลสามารถออกคำบังคับแก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้หรือไม่เพียงใดนั้น
ศาลเห็นว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีคำสั่งลับ ลงวันที่ 17 เม.ย.58 แต่งตั้งคณะทำงานเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อแก้ไขปัญหากรณีการดำเนินการประมูลโครงการที่พิพาท โดยคณะทำงานดังกล่าวได้เจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ฟ้องคดีทั้งสาม โดยเสนอในเบื้องต้นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสามมีความชอบธรรมที่จะได้รับสิทธิในการลงนามในสัญญากับ กฟผ.เพียงสัญญาเดียว จำนวน 2,500 เมกะวัตต์ จึงเห็นควรให้คงไว้ 1 สัญญา จำนวน 2,500 เมกะวัตต์ และขอเจรจายกเลิกสัญญา 1 สัญญา จำนวน 2,500 เมกะวัตต์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ทำให้การดำเนินการตามสัญญาไม่มีความมั่นคงในนิติฐานะ ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้รับความเสียหาย โดยประสบกับอุปสรรค ถูกรบกวน ถูกขัดขวางการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ได้ทำไว้กับกฟผ.
ศาลจึงมีอำนาจในการกำหนดคำบังคับห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการตรวจสอบหรือกระทำด้วยวิธีการใด อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม รวมทั้งนำเอาผลการตรวจสอบการประมูลการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการ IPP ไปใช้หรืออ้างอิง ไม่ว่าจะเป็นการภายในหรือต่อหน่วยงานอื่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 แจ้งยกเลิกหนังสือที่ส่งไปถึงสำนักงานบีโอไอ เกี่ยวกับการชะลอการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนกับผู้ฟ้องคดีทั้งสาม
ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นั้น เป็นเพียงหน่วยงานในทางธุรการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เท่านั้น มิได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายใด ๆ ที่จะกระทำให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีทั้งสามในลักษณะเป็นการละเมิดแต่อย่างใด
พิพากษาห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการตรวจสอบหรือกระทำด้วยวิธีการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม รวมทั้งนำเอาผลการตรวจสอบการประมูลการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการ IPP ไปใช้หรืออ้างอิง ไม่ว่าจะเป็นการภายในหรือต่อหน่วยงานอื่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 แจ้งยกเลิกหนังสือที่ส่งไปถึงสำนักงานบีโอไอ เกี่ยวกับการชะลอการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนกับผู้ฟ้องคดีทั้งสาม ยกฟ้องของผู้ฟ้องคดีท้งสามในส่วนที่ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก