(เพิ่มเติม) หอการค้าฯ ประเมินมาตรการกระตุ้นภาครัฐดัน GDP ปี 60 โตเพิ่ม 0.5% จากคาดการณ์ 3.5-4%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 20, 2016 12:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ประเมินว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมา จะเข้ามาช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปี 60 ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 0.5% จากที่คาดการณ์เดิมไว้ที่ระดับ 3.5-4.0% ขณะที่มองว่าการส่งออกจะฟื้นตัวมาเติบโตได้ 0-2%

ส่วนในปี 59 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.3-3.5% และการส่งออกหดตัวในช่วง -1 ถึง 0%

นายวิชัย กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยและแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในปีหน้าจะมาจากการใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายโครงการของภาครัฐ การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐที่ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวได้ต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยที่ยังต้องติดตาม คือ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลจากแนวนโยบายของรัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ, การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ, ความเสี่ยงทางการเมืองในภูมิภาคยุโรป และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง

นายวิชัย กล่าวว่า จากปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้รัฐบาลมีแนวทางในการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับกลุ่มจังหวัด ทั้ง 18 กลุ่ม จำนวน 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้แต่ละกลุ่มจังหวัดนำงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติ ไปพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่ เป็นการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น และจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็งมากขึ้น

สำหรับนโยบายการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ มุ่งเน้นการดำเนินการแบบประชารัฐ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม (รัฐ เอกชน ท้องถิ่น ประชาสังคม) ในการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด เพื่อให้การกระจายงบประมาณลงสู่กลุ่มจังหวัดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นการดึงศักยภาพของกลุ่มจังหวัดให้เป็น growth engine ในอนาคต และสามารถพัฒนาให้มีความยั่งยืนด้วยตัวเอง ทั้งนี้ จะเป็นการยกระดับเมืองที่เป็นศูนย์กลางของแต่ละภูมิภาคให้เจริญเติบโตทัดเทียมกับกรุงเทพมหานคร (Multiple Growth Pole) อย่างไรก็ตาม การที่จะบรรลุเป้าหมายของนโยบายได้นั้น รัฐบาลจะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความโปร่งใส สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้มีการเสนอโครงการต่าง ๆ จาก 18 กลุ่มจังหวัด ประมาณ 1,000 โครงการ รวมใช้งบประมาณ 83,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ด้านการเกษตร ประมาณ 25,000 ล้านบาท ด้านการท่องเที่ยวและบริการ 32,000 ล้านบาท ด้านการค้าการลงทุนและการค้าชายแดน 7,900 ล้านบาท และด้านโลจิสติกส์ 18,000 ล้านบาท

นายวิชัย กล่าวด้วยว่าการที่รัฐบาลมีนโยบาย Local Economy ไม่ใช่เพียงแค่การอัดฉีดเงินงบประมาณเท่านั้น แต่จะทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเจริญเติบโต ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเติบโตจากภายในประเทศและลดพึ่งพาการส่งออกจากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 70:30 เป็น 60:40 ภายใน 10 ปี ซึ่งต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

โดยในการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมให้กับกลุ่มจังหวัดทั้ง 18 กลุ่ม จำนวน 1 แสนล้านบาทนั้น เป็นครั้งแรกที่ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอโครงการ 1,000 โครงการ วงเงิน 8.3 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการเกี่ยวกับเกษตรกรรม 400 โครงการ วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท เช่น เกษตรอินทรีย์ การสร้างแหล่งน้ำชุมชน 2.โครงการเกี่ยวกับการค้าและการลงทุน 116 โครงการ วงเงิน 7.9 พันล้านบาท เช่น โครงสร้างพื้นฐานรองรับการค้าชายแดน 3.โครงการเกี่ยวกับโลจิสติกส์ 100 โครงการ วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท เช่น การปรับปรุงระบบสารสนเทศ และ 4.โครงการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและบริการ 400 โครงการ วงเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท เช่น การติดตั้งระบบซีซีทีวี

"การพิจารณาจะต้องเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้เพื่อเสนอ ครม.ในต้นปีหน้า ก่อนนำเข้าที่ประชุม สนช.ในเดือนกุมภาพันธ์ และเริ่มเบิกจ่ายได้ในเดือนมีนาคม" นายวิชัย กล่าว

พร้อมระบุว่า การจัดสรรงบประมาณลงไปสู่ระดับท้องถิ่นดังกล่าว จะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนได้หลายรอบ และตรงตามความต้องการของท้องถิ่นเอง โดยคาดว่าจะช่วยทำให้ GDP ปี 60 ขยายตัวเพิ่มได้อีก 0.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.0%

ส่วนการปรับ ครม.ใหม่นั้นไม่ทำให้เกิดความกังวลอะไร เพราะเป็นคนเดิมที่สลับตำแหน่งตามความเหมาะสม โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของนโยบาย ที่อาจเกิดผลกระทบบ้างนั้นเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างของรัฐมนตรีที่จะมาทำโครงการประชารัฐเท่านั้น

นายวิชัย ยังกล่าวถึงมาตรการช็อปช่วยชาติว่า โดยส่วนตัวแล้วมองว่ามาตรการดังกล่าวควรนำมาใช้ในช่วง Low Season จะเกิดประโยชน์มากกว่า เนื่องจากการนำมาตรการนี้มาใช้ช่วงปลายปี ซึ่งตามปกติจะถือเป็นช่วง High Season ของการจับจ่ายใช้สอยอยู่แล้วนั้น อาจทำให้มีส่วนช่วยในการกระตุ้นการจับจ่ายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมไม่มากนัก

ด้านนายเดช เฉิดสุวรรณรักษ์ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จะทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบ 1 - 1.2 หมื่นล้านบาท 2.มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในประเทศ มีเงินเข้าสู่ระบเศรษฐกิจ 5 พัน - 1 หมื่นล้านบาท และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 59 เติบโตเพิ่มอีก 0.02%

3.มาตรการลดหย่อนภาษีกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย (ช็อปช่วยชาติ) มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 1 - 2 หมื่นล้านบาท 4.มาตรการชะลอการขายข้าว มีเงินเข้าสู่ระบบ 1 – 1.5 หมื่นล้านบาท 5.นโยบาย Local Economy จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้เติบโตเพิ่มได้อีก 0.5%

6.ขอขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในระยะสั้นและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ซึ่งจากการสำรวจความเห็นจากผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกเห็นว่าเป็นมาตรการที่ดีมาก แต่เนื่องจากระยะเวลาในการใช้สิทธิ์ตามมาตรการค่อนข้างสั้น และมีสัดส่วนสมาชิกประมาณ 80% แจ้งความประสงค์จะใช้สิทธิ์ เพื่อขยายการลงทุนในปี 2560 วงเงินประมาณ 8,000 ล้านบาท หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจึงได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอขยายระยะเวลามาตรการฯ ดังกล่าวออกไปอีก 6 เดือน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ