นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร เปิดเผยว่า ในปี 60 กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ทั้งเรื่องเกษตรแปลงใหญ่, Agri-map อีกทั้งยังมีนโยบายจะต่อยอดโครงการพระราชดำริในการขับเคลื่อนเกษตรทฤษฎีใหม่ จากในปี 59 ที่ได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มบทบาทในการแข่งขัน
ส่วนการขับเคลื่อนนอกภาคเกษตร มีเครื่องมือที่เรียกว่า ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร (ศปก.) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 882 ศูนย์ เป็นการนำองค์ความรู้จากวิถีชีวิตเกษตรกรมาถ่ายทอดให้เกษตรกรที่ยังเรียนรู้ได้ไม่มากพอ
"กระทรวงเกษตรฯ มุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อนำพาภาคเกษตรของประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"
นางจินตนา กล่าวว่า การขับเคลื่อนเกษตรสมัยใหม่ พัฒนาเกษตรสู่ 4.0 เป็นเรื่องที่จำเป็นและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้มีการนำเทคโนโลยี นำนวัตกรรมมาใช้ในภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันการผลิตทางการเกษตรบางอย่างไม่สามารถควบคุมหรือดูแลกำกับได้บางส่วน เช่น ในเรื่องของพื้นที่ ในเรื่องของแรงงาน ในเรื่องภาวะการแข่งขัน สภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการจะขับเคลื่อนภาคเกษตรเพื่อไปสู่ 4.0 จำเป็นต้องเน้นการบริหารจัดการโดยใช้เทคโนโลยี ทั้งการใช้ผลงานวิจัย การใช้นวัตกรรม การใช้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนเพื่อทำให้สามารถผลิตได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
ที่ผ่านมาแม้ว่าการพัฒนาการเกษตรของไทยจะทำให้ภาคการเกษตรเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่ทว่าพบว่าการเติบโตค่อนข้างชะลอตัวลง และประเทศไทยเกินกว่า 80% เป็นเกษตรกรรายย่อย รายได้ไม่มั่นคง มีปัญหาหนี้สินค่อนข้างสูง นั่นเป็นเพราะองค์ประกอบเรื่องภาวะการแข่งขัน ความเข้มงวดในกฎกติการะหว่างประเทศ เรื่องของภัยธรรมชาติที่บางครั้งรุนแรงเกินคาดคิด เพราะฉะนั้นการผลักดันการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายส่วน ทั้งเรื่องความรู้ ความร่วมมือ จึงจะทำให้การขับเคลื่อนเกษตรสมัยใหม่ประสบความสำเร็จ สามารถยกระดับการผลิต มูลค่าเพิ่ม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และนำไปสู่การทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง มีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง