น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนาทางวิชาการ "ค้าอย่างไรให้ไทยเข้มแข็ง" ซึ่งจัดโดย ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
โดยงานสัมมนาครั้งนี้ เป็นการนำเสนอผลสำเร็จของโครงการจัดทำยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางการค้า แผนงานจัดทำยุทธศาสตร์การค้าสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ (ภายใต้โครงการ AEC Connect) ซึ่งได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์หลักภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) และยุทธศาสตร์ย่อยรายสาขา ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ย่อยรายสินค้าและบริการ รวม 11 สาขา โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) และกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี
ในงานสัมมนา ได้มีการเปิดเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ "ทิศทางการค้าไทยในภาวะเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน" ซึ่ง น.ส.พิมพ์ชนก ได้กล่าวถึงทิศทางของประเทศไทยในอนาคตว่าจะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญใน 5 ด้าน เพื่อพร้อมรับต่อบริบทของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คือ
1.การปฏิรูปภาครัฐ รวมทั้งการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบุคลากรภาครัฐ โดยการส่งเสริมให้ข้าราชการรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการทำงาน โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายที่จะใช้พลังจากคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนการทำงานของกระทรวงให้มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้
2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งในระยะต่อไปจะต้องมุ่งเน้นในการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) เนื่องจากไทยจะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นจะต้องเร่งเพิ่มและยกระดับคุณภาพของบุลากรของไทยในทุกสาขาให้มีความสามารถ พร้อมรับการต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว
3.การสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) ทั้งในเชิงกายภาพ (Physical) ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้มีความสะดวกสบาย พร้อมรับต่อการค้าการลงทุนที่จะมีการขยายตัวมากขึ้นจากการเปิดเสรี การสร้างความเชื่อมโยงแบบดิจิทัล (Digital) ที่จะมีการติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการทำธุรกิจการค้า ที่จะขยายสู่ช่องทางออนไลน์ผ่าน platform ต่างๆ มากขึ้น และการเชื่อมโยงของคน (People connectivity) โดยเฉพาะการเปิดเสรีที่จะทำให้มีการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงาน นักท่องเที่ยว และคนทำงาน ดังนั้น ไทยจะต้องเร่งกำหนดยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงทั้ง 3 ด้าน (Physical, Digital and People) ว่าจะไปในทิศทางใด เนื่องจากโลกไร้พรมแดน จะยิ่งเปิดกว้างและเป็นสิ่งที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น
4.การสร้างคลังข้อมูล Big Data ทางด้านการค้าการลงทุน ซึ่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับประเทศไทย ซึ่งสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ และจะมีการรวบรวมและนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์สินค้าและความต้องการของตลาด เพื่อปรับโครงสร้างการค้าให้เป็นลักษณะการตลาดนำการผลิต (Demand driven)
5.การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยในอนาคตรูปแบบของการรวมกลุ่มทางการค้า จะเป็นความร่วมมือขนาดใหญ่ ซึ่งการเจรจาการค้าในระดับทวิภาคีที่สำคัญของไทยที่ยังไม่คืบหน้า คือ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ไทยจะต้องเร่งกำหนดกลยุทธ์ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายเรื่องหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) อย่างชัดเจน โดยจะให้ความสำคัญต่อประเด็นที่เป็นประโยชน์กับภาคเอกชน ทั้งขนาดใหญ่ และ SME อาทิ ความร่วมมือด้านดิจิทัล หรือความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งไทยจะต้องแสวงหาประเด็นการเจรจาหรือประเด็นความร่วมมือจากประเทศหุ้นส่วนทางการค้าที่สำคัญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (Geo – Political) เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก เนื่องจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก พยายามที่จะเพิ่มบทบาทและอิทธิพลในภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น รวมถึงประเด็นการก่อการร้าย (Terrorism) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งไทยจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ ท่าที และการสร้างความสมดุลกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจให้ได้