นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 60 เหลือโต 3.2% จาก เดิมคาดโต 3.5% เนื่องจากความเสี่ยงตลาดโลกเป็นหลัก แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศจะฟื้นตัวได้บ้างจากการบริโภคแต่ก็ไม่อาจชดเชยแรงกดดันจากภายนอกได้ ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 59 นี้คาดว่าจะเติบโตได้ราว 3.3%
สำหรับในปี 60 แม้ว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง แต่อัตราการขยายตัวจะอยู่ในระดับที่ไม่ได้เร่งแรงมากนัก เนื่องจากยังต้องอาศัยดอกเบี้ยที่ต่ำในการประคับประคองเศรษฐกิจได้อยู่ จึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะคงที่ตลอดทั้งปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่แนะนำผู้ประกอบการเพิ่มความระมัดระวัง เพราะแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่ได้ขยับ แต่การระดมทุนผ่านตลาดเงินตลาดทุนอาจจะต้องมีการเตรียมตัว เพราะว่าต้นทุนทางการเงินอาจจะขยับสูงขึ้น เพื่อให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรขยับตัวสูงขึ้น จากเงินทุนที่ไหลออก สภาพคล่องที่เริ่มตึงตัวมากขึ้น ดังนั้น ต้องเริ่มเตรียมตัวในการระดมทุนผ่านตลาดพันธบัตรให้เร็ว เพื่อจะได้ระดมทุนด้วยต้นทุนถูกลง เพราะถ้ารอนานเกินไปต้นทุนจะสูงขึ้นได้
"หากจะเปรียบเศรษฐกิจไทยปีหน้าที่อาจเผชิญทั้งความสดใสและความท้าทายก็อาจเปรียบเหมือนสายรุ้งที่มีสีทั้งด้านอึมครึม และด้านสดใส จากสีม่วงไปจนถึงสีแดง ซึ่งเราต้องพร้อมรับมือกับปีไก่สายรุ้งนี้ให้ดี"นายอมรเทพ กล่าว
นายอมรเทพ กล่าวว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยมีความท้าทาย ทั้งจากภัยแล้งที่กดดันรายได้ภาคเกษตรให้ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งกำลังซื้อระดับฐานรากที่อ่อนแอ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีปัญหา และรายได้ภาคการเกษตรของคนต่างจังหวัดได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง แต่ช่วงปลายไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ปัญหาภัยแล้งได้คลี่คลาย รายได้ภาคการเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น สนับสนุนกำลังซื้อภาคการเกษตรโดยรวมปรับตัวดีขึ้น
สำหรับปี 60 ปัจจัยท้าทายแรกคือ การส่งออกของไทย ที่มีสัดส่วนถึง 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ยังมีความเสี่ยงติดลบติดต่อกันเป็นปีที่ 5 แม้ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐ จะไม่ได้มีมาตรการกีดกันทางการค้าโดยตรงกับไทย ยังทำให้การส่งออกไปสหรัฐยังเติบโตต่อเนื่องตามเศรษฐกิจสหรัฐที่จะเร่งตัวได้ดี เพียงแต่ต้องจับตาสินค้าส่งออกที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน หรือเป็นสินค้าบริโภคที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ เพราะสหรัฐมีทีท่าที่จะกีดกันทางการค้ากับจีน ซึ่งอาจทำให้การส่งออกสินค้าของไทยไปยังจีนและอาเซียนโดยรวมอาจจะชะลอได้ แต่อาจได้การส่งออกไปยังกลุ่ม CLMV ทั้งกัมพูชา ,ลาว,เมียนมา และเวียดนาม มาช่วยประคับประคองให้การติดลบไม่รุนแรงมากนัก
ปัจจัยต่อมาคือการลงทุนภาคเอกชน ที่ยังคงน่าเป็นห่วง ซึ่งการลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัวมาต่อเนื่องถึง 3 ปีซ้อน (ปี 56-58) ขณะที่ปี 59 ยังมีความเสี่ยงที่การลงทุนเอกชนอาจติดลบในไตรมาสที่ 4/59 ได้และอาจจะยังแผ่วลงต่อในปีหน้า เพราะปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เอกชนไทยหยุดลงทุนมาเป็นเวลานาน กำลังการผลิตยังเหลือ ดังนั้นภาคเอกชนยังไม่ฟื้นจากความเชื่อมั่นต่อทั้งเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก ก็อาจนำไปสู่ปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งก็เป็นปัญหาเดิม ๆ ของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงมีการปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ คือเริ่มจากการปรับโครงสร้างด้วยการใช้นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ 4.0 ที่จะส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต
ขณะที่เศรษฐกิจภูมิภาคส่งสัญญาณขยายตัวได้ต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 59 เป็นต้นมา นำโดยภาคตะวันออกและภาคใต้ ตามแรงขับเคลื่อนของการบริโภคสินค้าและบริการ โดยเฉพาะสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย และรายได้จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยให้เศรษฐกิจภูมิภาคยังคงเติบโต แต่ที่ยังน่าเป็นห่วงคือครัวเรือนระดับล่างและธุรกิจเอสเอ็มอี ที่กำลังซื้อคงไม่ได้ขยับขึ้นมากนัก เพราะหนี้ครัวเรือนยังสูง กดดันการบริโภคไม่ให้เร่งตัวได้ แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภาครัฐจะออกมาตรการมากระตุ้นต่อเนื่อง
สำหรับโครงการเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนตาม ซึ่งมีทั้ง โครงการรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า และมอเตอร์เวย์ จะส่งผลเชิงบวก (Crowding In Effect) ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยในระยะสั้นจะช่วยให้เกิดการจ้างงานและส่งผลดีต่อกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมไปถึงกลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้างทั่วประเทศทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเภทปูนซีเมนต์ เสาเข็ม หิน ทราย เหล็ก เป็นต้น ขณะที่ในระยะถัดไป การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กลับมาลงทุนมากขึ้น
สำนักวิจัยฯมองว่า ถ้าความเชื่อมั่นฟื้น และนโยบายภาครัฐในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่บรรลุผลได้ จะเป็นผลดีให้ความเชื่อมั่นของเอกชนฟื้น และเอกชนน่าจะกลับมาลงทุน โดยคาดว่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 60 ตามความเชื่อมั่นที่ฟื้นจากนโยบายภาครัฐ และจากเศรษฐกิจโลกที่น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นปีใน 60 แม้การลงทุนภาครัฐจะยังคงขยายตัวได้ดี แต่อาจขยายตัวช้าลงบ้างจากปีนี้
"เราคงจะเห็นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป จากความเชื่อมั่นของเอกชนฟื้น และเอกชนน่าจะกลับมาลงทุน ในขณะเดียวกันความชัดเจนของการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ประกอบกับการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะช่วยได้ไม่มากนัก เพราะเป็นสัดส่วนเพียง 6% ของ GDP เท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ต้องติดตามหลัก ๆ เลยคือการส่งออกที่เป็นสัดส่วนถึง 60% ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรงกับนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ แต่อาจจะมีผลกระทบทางอ้อมได้"นายอมรเทพ กล่าว
นายอมรเทพ กล่าวถึงแนวโน้มของค่าเงินบาทว่า มีโอกาสที่จะอ่อนค่าต่อเนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐส่งผลให้เงินไหลออก และความผันผวนจากปัจจัยภายนอกประเทศ ทั้งยุโรปที่อาจจะมีความเสี่ยงจากการที่บางประเทศมีการเลือกตั้ง เช่น ฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งอาจจะนำไปสู่คาดการณ์ที่จะมีการออกจากสหภาพยุโรป จะมีแรงกดดันต่อตลาดเงินตลาดทุนให้ผันผวนได้ ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนั้น แม้สหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยปีหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะปรับขึ้นสองครั้งในช่วงกลางปีและปลายปี แต่ก็คาดว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยจะคงที่ต่อเนื่องตลอดทั้งปี 60
ด้านการท่องเที่ยว ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อีกปี ซึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านคน จากปีนี้ที่ 33 ล้านคน โดยรายได้จากการท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้นักท่องเที่ยวจากจีนมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลง แต่คาดว่านักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปโดยเฉพาะจากรัสเซียจะมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นตามภาวะ ซึ่งถือว่าแนวโน้มที่ดีเนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปและรัสเซีย มีกำลังซื้อที่สูงกว่านักท่องเที่ยวจากประเทศจีน