ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในหลายประเทศของโลกจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไก่ของไทยในปี 2560 เพิ่มขึ้นจากกรอบคาดการณ์เดิมที่อยู่ในช่วง 2,600-2,650 ล้านดอลลาร์ฯ หรือขยายตัวที่ 4.0-5.0% YoY มาอยู่ในช่วง 2,700-2,750 ล้านดอลลาร์ฯ หรือเติบโตราว 8.0-9.0% YoY หรือยอดการส่งออกเพิ่มขึ้นราว 100-150 ล้านดอลลาร์ฯ
"การตรวจพบสัตว์ปีกติดเชื้อสายพันธุ์ H5 ในฟาร์มหลายแห่งในหลายประเทศของโลก คาดว่าจะช่วยเสริมโอกาสในการส่งออกสินค้าไก่ของไทยในปี 2560 ให้ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่เป็นคู่ค้าสำคัญ และเกาหลีใต้ที่เพิ่งเปิดตลาดนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งให้ไทย โดยการกำจัดสัตว์ปีกจำนวนมากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกจะหนุนให้มีการนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของคนในประเทศ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ปัจจุบันมีเชื้อไข้หวัดนกแพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในเกาหลีใต้ที่มีการแพร่ระบาดหนักจนรัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศเพิ่มระดับการเตือนภัยไข้หวัดนกสู่ระดับสูงสุดแล้ว โดยในช่วงกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ทางการของหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศในแถบยุโรปอย่างเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ สวีเดน ฝรั่งเศส และเยอรมนี รวมถึงประเทศในแถบเอเชียอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ได้ตรวจพบสัตว์ปีกที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ H5 หรือที่เรียกกันว่า ‘ไข้หวัดนก’ ในฟาร์มสัตว์ปีกหลายแห่งของประเทศ และเริ่มทำการกำจัดสัตว์ปีกที่ติดเชื้อเพื่อป้องกันการติดต่อสู่คนแล้ว
ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในเกาหลีใต้ดูจะร้ายแรงที่สุด โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศเพิ่มระดับการเตือนภัยไข้หวัดนกสู่ระดับร้ายแรง ซึ่งเป็นระดับสูงสุดจาก 4 ระดับของการเตือนภัย เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการติดต่อและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้ต้องกำจัดสัตว์ปีกไปแล้วเกือบ 17 ล้านตัว หรือคิดเป็น 10% ของสัตว์ปีกทั่วประเทศเกาหลีใต้ ทั้งนี้การยกระดับการเตือนภัยของรัฐบาลเกาหลีใต้ส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์ปีกและไข่ไก่ในประเทศพุ่งสูงขึ้นโดยฉับพลัน
"การระบาดของไข้หวัดนกในประเทศคู่ค้าเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไก่ของไทยภายใต้การบริหารจัดการที่ต้องระมัดระวัง แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีประเทศใดออกมาตรการระงับการนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ด้วยส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศส่วนใหญ่ที่พบการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าไก่จากต่างประเทศประกอบกับการแพร่ระบาดในหลายประเทศยังอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
การกำจัดสัตว์ปีกจำนวนมากเพื่อควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของไข้หวัดนกจะนำมาสู่ความต้องการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเพื่อเข้ามาชดเชยปริมาณสัตว์ปีกในประเทศที่ถูกกำจัดไป และทำให้มีปริมาณเนื้อสัตว์ปีกที่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค รวมถึงบรรเทาราคาเนื้อสัตว์ปีกภายในประเทศ ภายใต้สถานการณ์นี้จึงนับเป็นโอกาสของผู้ผลิตและส่งออกสินค้าไก่ไทย (ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูป) โดยเฉพาะการส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย และการส่งออกไปยังเกาหลีใต้ที่เพิ่งเปิดตลาด โดยอนุมัติการนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา หลังระงับไปนานกว่า 12 ปี (ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา หลังไทยเกิดการระบาดของไข้หวัดนก) แม้ทั้ง 2 ประเทศจะมีหลายตัวเลือกในการนำเข้าสินค้าไก่ส่วนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นจีน บราซิล รวมทั้งไทยที่เป็น 3 ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ แต่ไทยถือว่ามีความได้เปรียบในเรื่องราคามากที่สุดจากสิทธิพิเศษทางภาษีและต้นทุนค่าขนส่งสินค้าที่ถูกกว่า
ขณะเดียวกันผู้ผลิตและส่งออกสินค้าไก่ไทยจำต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อของไก่ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการนำเข้าไก่ปู่ไก่ย่าพันธุ์จากประเทศในแถบยุโรปที่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ซึ่งในปี 2558 ไทยนำเข้าสัตว์ปีกมีชีวิตเพื่อใช้ทำพันธุ์ประมาณ 1.4 ล้านตัว คิดเป็นมูลค่า 21.8 ล้านดอลลาร์ฯ โดยนำเข้าจากฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ เป็นหลัก
"แม้การระบาดของไข้หวัดนกในต่างประเทศอาจเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าไก่ไทย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยในภาวะปัจจุบัน นั่นก็คือ ภาครัฐและผู้ประกอบการควรดูแลป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของไข้หวัดนกในไทยอีกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อกำลังการผลิตในประเทศจากการถูกระงับการนำเข้าสินค้าไก่จากไทยเฉกเช่นที่ผ่านมา" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าไก่ของไทย (ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูป) ตลอดทั้งปี 2559 คาดว่าจะอยู่ที่ 2,510-2,525 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวที่ 4.5-4.8% YoY จากแรงส่งของการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าไก่ไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นที่ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์มาจากคุณภาพมาตรฐานสินค้าไก่ไทยที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับการเปิดตลาดนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยของเกาหลีใต้ในช่วงปลายปี 2559