NIDA มองศก.ไทยปี 60 สดใส GDP ขยายตัว 3.5-4% ส่งออก โต 1-2% ดัชนี SET แตะ 1,600-1,650 จุด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 27, 2016 10:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโทการจัดการภาครัฐและเอกชน (MPPM) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 60 คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 3.5-4.0% จากนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2559 ที่มีงบลงทุนคงเหลือกว่า 33.6% หรือประมาณ 141,730 ล้านบาท และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 60 ที่ขณะนี้มีการเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 26.3% โดยในส่วนนี้เป็นการเบิกจ่ายงบลงทุนเพียง 6.4% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายภาครัฐที่เร่งอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มีหลายโครงการที่จะเห็นเป็นรูปธรรมในปี 60 จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้และส่งผลต่อรายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันการเร่งรัดเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันโดยสนับสนุนการพัฒนายกระดับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีให้กับภาคการผลิตและแสวงหาตลาดใหม่ให้กับภาคการส่งออก ผ่านการเจรจาความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการค้าอย่างต่อเนื่อง จะช่วยสนับสนุนต่อปัจจัยเชิงบวกของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากคู่ค้าของไทยในปี 2560 มีทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และจะผลักดันอัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาเคลื่อนไหวในกรอบ 1.5-2.0%

"ปี 60 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยมีการลงทุนภาครัฐเป็นพระเอกที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการที่มีความชัดเจนและพร้อมเดินหน้าก่อสร้าง ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชนตัดสินใจขยายการลงทุนเพิ่มเติม" นายมนตรี กล่าว

ส่วนแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 60 เชื่อว่ายังขยายตัวได้ 1-2% โดยมีประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียนที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 25.3% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการสนับสนุนการลงทุนของภาครัฐและเอกชนของแต่ละประเทศในอาเซียน จึงคาดว่าในปี 60 จะเติบโตได้ 4.6% จากปี 59 ที่ประเมินว่าเติบโต 4.5%

ส่วนตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญที่มีสัดส่วนส่งออกกว่า 11.4% มีแนวโน้มขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นบวกและส่งสัญญาณการเติบโตที่สดใส หลังจากได้ประธานาธิบดีคนใหม่เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง เช่น การปฏิรูปภาษีด้วยการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา มุ่งแก้ปัญหาการว่างงานและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นรวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จึงคาดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปี 60 จะขยายตัว 2.-2.3% ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ มากขึ้น

ขณะที่ตลาดจีนที่ไทยมีสัดส่วนส่งออก 10.6% นั้นมีแนวโน้มชะลอตัวเนื่องจากการลงทุนของภาคเอกชนที่ลดลง จึงคาดว่าเศรษฐกิจของจีนในปี 60 จะมีการเติบโตลดลงเหลือ 6.5% จากปี 59 ที่คาดว่าจะเติบโต 6.7% ดังนั้นเศรษฐกิจโลกจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจจีน เนื่องจากจีนมีการส่งออกสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก หากเศรษฐกิจจีนยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี การส่งออกสินค้าจากไทยไปยังประเทศจีนก็ย่อมดีตามไปด้วย

"หากประเมินสภาวการณ์ส่งออกของไทยในปี 60 เชื่อว่ายังเติบโตได้ 1-2% เนื่องจากประเทศคู่ค้ารายใหญ่ยังมีตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ประกอบกับเศรษฐกิจปีหน้าในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วยังขยายต่อเนื่องในระดับ 1.9-2.0% ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.9-5.0% จากปี 59 คาดว่าอยู่ที่ 4.0-4.3% ส่วนประเทศกลุ่ม BRICS ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้ คาดว่าเติบโต 5.1% จากปี 59 ที่น่าจะขยายตัวได้ 4.2% เมื่อมารวมกับปัจจัยสนับสนุนของค่าเงินบาทที่เฉลี่ยเคลื่อนไหวอยู่ที่ 35-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะเอื้อต่อการสนับสนุนการส่งออกของไทยสามารถผลักดันการเติบโตได้ดียิ่งขึ้น" นายมนตรี กล่าว

นายมนตรี กล่าวว่า จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจะช่วยสนับสนุนความแข็งแกร่งของภาคตลาดเงินตลาดทุนไทยในปี 60 ที่คาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 1,600-1,650 จุด และอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ 1.50% ซึ่งจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 60 เติบโตได้ตามที่ประเมินไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ