นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้หลักการเห็นชอบการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง ซึ่งจะต้องออกกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...(การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง) และร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ... เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางรางให้มีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อระบบคมนาคมขนส่งของไทย
"ปัจจุบันการขนส่งของประเทศไทยเน้นการขนส่งทางบกเป็นหลักกว่า 80% ขณะที่มีการขนส่งทางรางเพียง 2% เท่านั้น ทั้งๆ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า มลภาวะน้อยกว่า อุบัติเหตุน้อยกว่า เราจึงต้องการสนับสนุนให้มีการขนส่งทางรางมากขึ้น ขณะที่ระบบควบคุมดูแลการขนส่งทางรางยังไม่มีหน่วยงานไหนดูแลเป็นพิเศษทำให้เกิดความคลุมเครือ" นายณัฐพร กล่าว
โดยร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...(การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง) จะเป็นการยกฐานะสำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร (สนข.) ขึ้นเป็นกรมการขนส่งทางรางในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่มีภารกิจเกี่ยวกับการเสนอแนะนโยบาย กำหนดยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนาด้านการขนส่งทางราง วางแผนโครงข่าย บริหารงานด้านการขนส่งทางรางของประเทศ กำหนดและกำกับดูแลมาตรฐานระเบียบทางด้านความปลอดภัยด้านการซ่อมบำรุงทาง และด้านการประกอบการ รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางของประเทศ
ส่วนร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ...จะให้อำนาจในการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางราง โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ทั้งเรื่องการเดินรถ การกำหนดค่าโดยสาร และการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายขนส่งทางรางที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
"กรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อรักษาประโยชน์ของสาธารณะ อธีบกรมการขนส่งทางรางจะมีอำนาจเข้าควบคุมดูแลกิจการของผู้ได้รับอนุญาตเป็นการชั่วคราวได้ ยกตัวอย่างหากรถไฟฟ้าบีทีเอสเสียหรือเกิดอุบัติเหตุ ในทางปฏิบัติภาครัฐไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ แต่กฎหมายฉบับใหม่จะให้อำนาจรัฐเข้าไปแก้ปัญหากรณีฉุกเฉินได้" นายณัฐพร กล่าว
โดยโครงสร้างของกรมการขนส่งทางราง ประกอบด้วย กลุ่มตรวจสอบภายใน, กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร, สำนักงานเลขานุการกลุ่ม, กองกฎหมาย, กองกำกับกิจการขนส่งทางราง, กองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง และกองยุทธศาสตร์และแผน มีอัตรากำลัง 203 อัตรา ซึ่งเบื้องต้นจะเกลี่ยมาจากกระทรวงคมนาคม
นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบให้แก้ไข พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ใช้มานานถึง 55 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง ซึ่งกำหนดให้ตั้งบริษัทลูก 3 แห่ง คือ บริษัทเดินรถ, บริษัทซ่อมบำรุงรางและล้อเลื่อน และบริษัทบริหารทรัพย์สิน เนื่องจากมีลักษณะงานที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะมีการตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินขึ้นเป็นลำดับแรกในปี 2563 ส่วนที่เหลืออีก 2 บริษัท เนื่องจากต้องใช้เวลาไปหารือและทำความเข้าใจกับทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อชี้แจงผลดีผลเสีย และเห็นชอบร่วมกัน คาดดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2567