ครม.อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย ปรับปรุงกระบวนการฟื้นฟูกิจการ-เพิ่มกม.รองรับการล้มละลายในตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 27, 2016 16:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่...) พ.ศ.... โดยมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขหลักการของกระบวนการฟื้นฟูกิจการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับหลักการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตลอดจนแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติกฎหมายล้มละลายให้เชื่อมโยงและรองรับ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 โดยเพิ่มเติมบทบัญญัติกฎหมายให้รองรับการล้มละลายระหว่างประเทศ ตามกรอบของคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (UNCITRAL) ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่ในปัจจุบันมีความเจริญทางเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก ทำให้การค้าและการลงทุนมีความรวดเร็วและข้ามพรมแดนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขอุปสรรคในการจัดการและรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีลักษณะระหว่างประเทศโดยให้สามารถบังคับคดีกับทรัพย์สินของผู้ล้มละลายที่อยู่ในต่างประเทศได้ อีกทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างประเทศต่อกฎหมายล้มละลายของประเทศไทย และทำให้กระบวนการล้มละลายกับการบังคับหลักประกันเกิดการสอดรับกัน ส่งผลให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น

"อนาคตจะช่วยเอื้อให้รัฐบาลหรือเจ้าหนี้สามารถติดตามทรัพย์ที่อยู่ในต่างประเทศได้เป็นครั้งแรก และทำให้ไทยเข้าสู่มาตรฐานสากลในกฎหมายล้มละลายระหว่างประเทศ" นายกอบศักดิ์ กล่าว

ปัจจุบันมีทั้งหมด 41 ประเทศที่มีกฎหมายภายในที่ยึดหลักตามกฎหมายแม่แบบว่าด้วยการล้มละลายข้ามชาติ ซึ่งในเอเชียมีใช้แล้ว 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลี และฟิลิปปินส์ โดยไทยจะถือเป็นประเทศที่ 4 ในเอเชียที่จะมีการใช้กฎหมายนี้

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ธนาคารโลกจะได้จัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business - EoDB) ประจำปี 2561 ซึ่งได้มีการจัดส่งแบบสอบถามไปยังผู้ตอบในประเทศต่างๆ และสิ้นสุดการเก็บข้อมูลในวันที่ 1 มิ.ย.60 ดังนั้นคาดว่าร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย ฉบับนี้ของไทยจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ทันภายใน มิ.ย.60 อย่างแน่นอน เพื่อให้ทันกับการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจในปี 2561 ของธนาคารโลก

"กฎหมายนี้เป็นอีกหนึ่งในกฎหมายสำคัญที่ธนาคารโลกจะชี้ว่าเป็นความสะดวกในการประกอบธุรกิจหรือไม่ ดังนั้นเราจึงหวังว่ากฎหมายนี้จะช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศลำดับที่ 4 ในเอเชีย ที่จะมีการใช้กฎหมายนี้" นายกอบศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ