นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ.2558-2568 เพื่อจะใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย และเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิก รวมทั้งให้ความเห็นชอบการดำเนินงานเบื้องต้นในโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (งานศึกษา สำรวจ ออกแบบ) โดยทั้งหมดนี้จะให้กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานปฏิบัติและประสานงานหลักในการดำเนินตามแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศ พ.ศ.2558-2568 และการดำเนินงานเบื้องต้นโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงด้วย
สำหรับแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ.2558-2568 จะครอบคลุมพื้นที่แม่น้ำโขงระหว่างเมืองซือเหมาในจีน ถึงเมืองหลวงพระบางในลาว โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 (พ.ศ.2558-2563) ศึกษา สำรวจ ออกแบบ และทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมของแต่ละโครงการ และได้รับการรับรองจาก 4 ประเทศ โดยจะปรับปรุงร่องน้ำระยะทาง 631 กม. จากชายแดนจีน-เมียนมาที่หลัก 243 ถึงหลวงพระบางเพื่อรองรับเรือ 500 ตัน พัฒนาท่าเรือสินค้า 3 แห่ง และท่าเรือโดยสาร 3 แห่ง ส่วนระยะที่ 2 (พ.ศ.2563-2568) ศึกษา สำรวจ ออกแบบ และทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมของแต่ละโครงการ และได้รับการรับรองจาก 4 ประเทศ มีการปรับปรุงร่องน้ำระยะทาง 259 กม. จากซือเหมาถึงชายแดนจีน-เมียนมา ที่หลัก 243 ให้รองรับเรือ 500 ตัน และสร้างสะพาน Yunjinghong ขึ้นใหม่ และมีการพัฒนาท่าเรือสินค้าสำหรับเรือ 500 ตัน 4 แห่ง ท่าเรือสินค้าสำหรับเรือ 300 ตัน และท่าเรือโดยสาร 9 แห่ง
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประเทศสมาชิก คือ จีน ลาว เมียนมา และไทย ได้จัดตั้งคณะสำรวจร่วมกันโดยเห็นควรมีการปรับปรุงรองน้ำทางเดินเรือและปรับปรุงเกาะแก่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง และเห็นชอบให้จัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อสำรวจและจัดทำรายงานการออกแบบปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ โดยกำหนดแผนงานการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือทั้งหมด 2 ระยะ เพื่อให้เรือขนาด 500 ตัน สามารถเดินทางได้โดยสะดวกและปลอดภัย
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันปริมาณการขนส่งบริเวณแม่น้ำโขงเพิ่มมากขึ้น และเรือที่สามารถแล่นผ่านในแม่น้ำโขงมีขนาดบรรทุกเพียง 60-150 ตันเท่านั้น ขณะที่เรือที่มีขนาดใหญ่กว่านั้นไม่สามารถแล่นได้อย่างปลอดภัย
"ดังนั้นเพื่อการอำนวยความสะดวก ส่งเสริมการค้าให้มีความปลอดภัยทั้งการเคลื่อนย้ายสินค้า และคนโดยสาร ลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุและลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดให้มีการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำดังกล่าวให้สามารถรองรับเรือขนาด 500 ตันได้ จึงมีความจำเป็นต้องจัดทำแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ค.ศ.2015-2025 และจำเป็นต้องมีการดำเนินงานเบื้องต้นในโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง" นายกอบศักดิ์ กล่าว