ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรของไทยในปี 59 โดยเฉพาะในรายการสินค้าเกษตรหลักอย่างข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง นับว่าเผชิญความท้าทายรอบด้าน โดยในช่วงต้นปี 59 ปัญหาภัยแล้งได้สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรหลายรายการ ที่แม้จะมีผลดันราคาข้าวให้สูงขึ้นได้ในช่วงเวลาดังกล่าว ผนวกกับทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ฟื้นตัวขึ้น ส่งผลต่อราคายางพาราที่ปรับตัวขึ้นในช่วงปลายปี 2559 อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์น้ำฝนที่ดีขึ้น และมาเร็วกว่าปีก่อนในช่วงราวเดือนพฤษภาคม 59 (ปี 58 ฝนมาราวปลายเดือนกรกฎาคม) ทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้น และกดดันภาพรวมราคาในประเทศปี 59 ให้ยังอยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรหลักในประเทศปี 60 อาจทยอยฟื้นตัวขึ้นในบางรายการอย่างยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอ้อย เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับขึ้น ผนวกกับความต้องการในตลาดที่มีรองรับ ขณะที่ยังต้องจับตาพืชเกษตรหลักอย่างข้าว และมันสำปะหลังที่อาจต้องเผชิญความท้าทายด้านอุปทานที่ยังคงล้นตลาด จากผลของสถานการณ์น้ำที่ดีขึ้น ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ตลอดจนกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ยังชะลอตัว จะเป็นปัจจัยกดดันราคาให้ยังอยู่ในระดับต่ำ
สำหรับเม็ดเงินของเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลักในปี 60 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 60 มูลค่าของพืชเศรษฐกิจหลักที่เกษตรกรขายได้ ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อของเกษตรกรอาจเพิ่มขึ้นเป็นเม็ดเงินรวมราว 35,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีนี้ โดยเป็นผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ผนวกกับผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณผลผลิตข้าว และมันสำปะหลัง ทำให้โดยรวมจะเป็นแรงหนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลักดังกล่าวมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นในทุกภาคของไทย และส่งผลต่อกำลังซื้อโดยรวมของทั้งประเทศให้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนด้วย
นำโดยเกษตรกรในภาคใต้ จะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นอยู่ที่ราว 11,000 ล้านบาท เนื่องจากมีพืชที่มีราคาดีขึ้นในสัดส่วนที่สูง ตามมาด้วยเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น 10,600 ล้านบาท เกษตรกรในภาคกลาง มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น 6,700 ล้านบาท เกษตรกรในภาคเหนือ มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น 5,500 ล้านบาท และเกษตรกรในภาคตะวันออก มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น 900 ล้านบาท ทั้งนี้ หากมองในแง่ของรายได้เกษตรกรรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 60 รายได้เกษตรกรรวมอาจขยายตัว 3.9% เทียบปีต่อปี ซึ่งเป็นแรงจากผลของปัจจัยด้านปริมาณมากกว่าราคา เนื่องจากแรงหนุนของสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลักส่วนใหญ่ที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย อีกทั้งแรงหนุนจากภาคปศุสัตว์ที่มีทิศทางเติบโตต่อเนื่องโดยเฉพาะไก่ และภาคประมงที่ยังขยายตัวได้โดยเฉพาะกุ้ง ซึ่งจะทำให้รายได้เกษตรกรรวมปี 60 ขยายตัวดีขึ้น