นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มอบนโยบายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของไทยให้ครบทั้ง 77 จังหวัด และส่งเสริมการขึ้นทะเบียน GI ไทยในต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดสินค้า GI ไทยที่ศักยภาพ โดยล่าสุดได้มอบหมายให้รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาประสานงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว พร้อมเดินทางเข้าพื้นที่ร่วมประชุมกับเกษตรกร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 20 ราย และเยี่ยมชมสวนของเกษตรกรในสินค้า 2 ชนิด คือ มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว และชมพู่เพชรคลองหาด ซึ่งเป็นสินค้าที่ทางจังหวัดได้คัดเลือกแล้วว่ามีชื่อเสียงและมีศักยภาพสูงของจังหวัดสระแก้ว
ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกสำรวจพื้นที่การปลูกสินค้าและให้คำแนะนำเพื่อให้มีการขึ้นทะเบียน GI เป็นผลไม้มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว และชมพู่เพชรคลองหาด รวมถึงรับทราบปัญหาในการขึ้นทะเบียน เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐที่ครอบคลุมพื้นที่ได้รับความรู้ความเข้าใจ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรอรับคำขอการขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการจัดทำคู่มือปฏิบัติงานสำหรับสมาชิกผู้ขอใช้ GI และการจัดทำแผนควบคุมตรวจสอบ เพื่อให้การใช้ GI เป็นเครื่องมือทางการค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด
โดย 2 สินค้าดังกล่าวมีคุณสมบัติ และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว ซึ่งเป็นผลมาจากแหล่งผลิต ตามสภาพภูมิอากาศ หรือ ปัจจัยแวดล้อมในพื้นที่ อาทิ มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว เป็นพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง เมื่อโตเต็มที่ผลจะมีน้ำหนักเฉลี่ยระหว่าง 300-500 กรัม ผลเป็นรูปกลมรีและยาว ทรงผลสวย สีเหลืองนวล เนื้อเยอะ เนื้อแน่นไม่เละ เมล็ดลีบบาง รสชาติหวานหอม ไม่มีเสี้ยนในเนื้อ นิยมรับประทานแบบสุก โดยการเก็บผลแก่มาบ่มจนสุกเพื่อรับประทานกันข้าวเหนียวมูลจะได้รสชาติหวาน อร่อย
ปัจจุบันมีการควบคุมคุณภาพด้วยระบบการตรวจสอบย้อนกลับตามมาตรฐาน GAP ครอบคลุมพื้นที่ทุกอำเภอใน จ.สระแก้ว โดยสถิติการส่งออกมะม่วงทุกสายพันธุ์ในปี 57 มีมูลค่าประมาณ 1,265 ล้านบาท ปี 58 มูลค่า 1,211 ล้านบาท สำหรับ 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) ส่งออกราว 1,098 ล้านบาท
ส่วนชมพู่เพชรคลองหาด เป็นชมพู่ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ผสานของชมพู่ 5 สายพันธุ์ อาทิ ทูลเกล้าเพชรสามพราน เพชรจินดา เพชรน้ำผึ้ง และมานารากี มีลักษณะโดดเด่น คือ ผลใหญ่ ทรงระฆังคว่ำ เอวคอดในฤดูหนาวผิวชมพู่จะมีสีแดงเลือดนกตลอดผล เนื้อแน่น รสหวาน กรอบ เนื้อในเมื่อผ่าออกมาจะตัน มีสีเขียวอ่อนมีความหวานสูงถึง 12.5 บริกซ์ ผลโต น้ำหนักดี มีการเพาะปลูกครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอจาก 9 อำเภอในสระแก้ว อาทิ คลองหาด เขาฉกรรจ์ วัฒนานคร และอรัญประเทศ
คุณลักษณะเฉพาะนี้ จึงทำให้ชมพู่เพชรคลองหาดได้รับ ความนิยมไม่เฉพาะในประเทศ แต่เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศด้วย อาทิ อินโดนีเซีย จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ไม่น้อยกว่าปีละ 400 ตัน ทั้งนี้ในปี 58 การส่งออกชมพู่รวมทุกสายพันธุ์จากไทยไปต่างประเทศมีมูลค่าราว 128 ล้านบาท โดย 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) ส่งออกราว 107 ล้านบาท
สำหรับแผนในปี 2560 กรมฯ มีแผนประชุมส่งเสริมการขึ้นทะเบียนหนึ่งจังหวัดหนึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และลงพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าอีก 6 จังหวัด ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร, นิลเมืองกาญจน์ จ.กาญจนบุรี, ปลาช่อนแม่ลา จ.สิงห์บุรี, จำปาดะ จ.สตูล, น้ำแร่เมืองนอง จ.ระนอง และหอยชักตีน จ.กระบี่ เป็นต้น โดยกรมฯ ได้ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเหล่านี้แล้ว คาดว่าจะจัดประชุมลงพื้นที่ดำเนินการได้แล้วเสร็จอย่างเร็วภายในกลางปี 2560
สินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI แล้วมี 51 จังหวัด 71 สินค้า และจังหวัดที่ยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียน GI อีก 26 จังหวัด เช่น สังคโลกสุโขทัย (จ.สุโขทัย) กระท้อนตะลุง (จ.ลพบุรี) ทุเรียนสาลิกาพังงา (จ.พังงา) สับปะรดตราดสีทอง (จ.ตราด) เป็นต้น