"กอบกาญจน์"จับมือคมนาคมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวทางรางเน้นกลยุทธ์สัมผัสวิถีถิ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 29, 2016 12:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงท่องเที่ยวฯ จับมือกระทรวงคมนาคม ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวทางราง (Rail Tourism) เน้นกลยุทธ์สัมผัสวิถีถิ่น Local Experience ฟื้น 10 กิจกรรม สุดสร้างสรรค์ความประทับใจ ให้นทท.ตลอดโบกี้ เสริฟ์อาหารท้องถิ่นแต่ละชุมชน มี “ครัวรถไฟ"ช่วยสร้างเสน่ห์เมนูขึ้นชื่อ

การเดินทางการท่องเที่ยวทางรางด้วยรถไฟ ซึ่งมีเสน่ห์และสามารถสร้างสรรค์เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวต่างๆ ให้เกิดความเชื่อมโยงไปยังเมืองต่างๆเชื่อมโยงทางพื้นที่และทางวัฒนธรรมโดยอยู่ในระหว่างการพัฒนา และดำเนินงานร่วมกันให้ใช้งานได้ในปี 60 เช่นต่อยอดเส้นทาง กรุงเทพ-หัวหิน หัวหิน-ปราณบุรี สัมผัสมุมมองโค้งชายทะเลเลียบอ่าวปราณบุรี

พร้อมทั้ง พัฒนาเส้นทางตลาดร่มหุบเส้นทางอัมพวา แม่กลองสมุทรสาคร โดยใช้พื้นที่ชั้นบนของอาคารในบริเวณใกล้เคียง ให้มองลงมาจากมุมสูงได้, เชื่อมโยงเส้นทางสู่เมืองต้องห้ามพลาด เชียงใหม่-ลำปาง-ลำพูน, นำหัวรถจักรไอน้ำมาปรับปรุง ดัดแปลงวิ่งบนสะพานข้ามแม่น้ำแคว เส้นทางรถไฟสายมรณะ, ให้ ททท. โปรโมทเส้นทางสายสีม่วง เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว, ทัวร์เล่าเรื่อง แต่ละสถานี เช่น สถานีโรแมนติก...สถานีชุมทางบ้านดารา ก่อนแยกไปพิษณุโลก ซึ่งเป็นสถานีที่พระพุทธเจ้าหลวง ร.5 เสด็จมารับเจ้าดารารัศมี,

รื้อฟื้นเมนูอร่อยบนครัวรถไฟ และมี จานเด็ด อาหารท้องถิ่นในแต่ละเส้นทาง, เพิ่มตู้บรรทุกจักรยาน เอาใจนักปั่นเส้นทางอยุธยา ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา, จัดให้มี free wi-fiและที่ชาร์ทแบตโทรศัพท์บนรถไฟ เพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสาร, เตรียมแผนการตลาดสำหรับรถไฟใหม่จากญี่ปุ่น.เจาะตลาด mid to high และเป็น Tourism for Allให้เป็น Luxury Train เช่น เป็น Gourmet Train Ride

"10 กิจกรรมนี้เป็นรูปแบบทำงานบูรณาการของททท.ร่วมกับกระทรวง คมนาคม เป็นสิ่งที่เคยมีอยู่แล้ว แต่จะนำมารื้อฟื้นใหม่ เช่น เรื่องอาหารท้องถิ่น เมนูขึ้นชื่อของแต่ละชุมชนหรือจังหวัด มาเสริฟ์บนครัวรถไฟ เพื่อให้นักท่องเที่ยวประทับใจ"นางกอบกาญจน์ กล่าว

และจากการที่มติคณระรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.การจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางขึ้นนั้น ถือเป็นข่าวดีของประเทศไทยในเรื่องเส้นทางการท่องเที่ยวเพราะเป็นการปฏิรูปการขนส่งทางราง และจะทำให้การท่องเที่ยวทางราง ( Rail Tourism) ที่กระทรวงท่องเที่ยวบูรณาการร่วมกันระหว่างคมนาคมและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สานต่อทำในสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับในปี 2560 นี้ มิติด้านพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะเน้นสร้างการท่องเที่ยวไทยให้เป็นศูนย์กลาง (Hubs)ใน 5 ด้าน อาทิ ด้านการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sports Tourism) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical & Wellness) การจัดงานแต่งงาน (Wedding & Romance) เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก World Wedding Congress ในเดือนพฤษภาคมที่ภูเก็ตการท่องเที่ยวทางน้ำ (Maritime Tourism) และการท่องเที่ยวเชื่อมโยง (ASEAN Connect) ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้กลยุทธ์ Local Experience การสร้างสรรค์ประสบการณ์สัมผัส ชีวิต ความเป็นอยู่ และวิถีชีวิต คนไทยแบบ 360 องศานั่นเอง ซึ่งการท่องเที่ยวทางรางจะเป็นสิ่งที่เราเร่งทำสานต่อจากรูปแบบเดิมที่มีอยู่ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

ส่วนสถานการณ์ท่องเที่ยวไทย ไตรมาส 4/59 รายได้รวมจากการท่องเที่ยว จำนวน 628,486.67 ล้านบาท ขยายตัว 4.41% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวน 400,436.63 ล้านบาท ขยายตัว 2.03% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยวภายในประเทศ จำนวน 228,050.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.89% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 27 ธ.ค.มีนักท่องเที่ยวสะสม จำนวน 32.13 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้ 1.61 ล้านล้านบาท ขยายตัว 8.96% และ 12.68% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามลำดับ

สิ่งที่ควรคำนึงในบริบทของการท่องเที่ยวที่สำคัญในปี 59 และระยะต่อไปได้แก่รายได้จากนักท่องเที่ยวยุโรปขยายตัว 12% และนักท่องเที่ยว CLMV สร้างรายได้กว่า 1 แสนล้านบาท, การแข่งขันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน ด้วยการยกเว้นวีซ่ารุนแรงขึ้น และอีคอมเมิร์ซจีนบุกไทยและอาเซียน, การท่องเที่ยวในเมืองรอง (24 เมือง) สร้างรายได้ 1.47 แสนล้านบาท เร่งพัฒนาเมืองชายแดนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอาเซียน, ในปี 2560 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว และเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าและการแข่งขันรวมถึงการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำกระตุ้นการท่องเที่ยวโลก

ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตของการท่องเที่ยวไทยที่สำคัญในปี 60 ได้แก่การท่องเที่ยวโลกคาดว่าจะขยายตัว 3.8% และนักท่องเที่ยวยุโรปจะมาเอเชียมากขึ้น, โครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการท่องเที่ยวขยายตัว ช่วยเพิ่มศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว (ท่าอากาศยานดอนเมือง ภูเก็ต และอู่ตะเภา), เศรษฐกิจไทยในปี 60 มีแนวโน้มขยายตัว 3-4% และนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำและการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเริ่มเป็นรูปธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ