ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดยอดขายรถปี 60 ฟื้นโต 2-6% ภาคตะวันออกเติบโตดีสุด อานิสงค์จากนโยบาย EEC

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 29, 2016 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าปี 2560 นี้ ตลาดรถยนต์ในประเทศของไทยมีโอกาสที่จะทำยอดขายได้สูงขึ้นเล็กน้อยที่ประมาณร้อยละ 2 ถึง 6 หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ 770,000 ถึง 800,000 คัน จากในปี 59 ที่มองว่าทิศทางตลาดรถยนต์ในประเทศ อาจหดตัวได้ถึงราวร้อยละ 5.8 หรือคิดเป็นจำนวนยอดขายรถยนต์ประมาณ 753,000 คัน จากภาวะกดดันตลาดจากกำลังซื้อซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การส่งออกที่ฟื้นช้า และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเป็นต้น

สำหรับในช่วงปี 2560 รถยนต์ประเภทที่ยอดขายมีโอกาสจะปรับดีขึ้นกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ รถยนต์นั่งในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์หรูสัญชาติตะวันตก รวมถึงรถปิกอัพและรถบรรทุก ซึ่งอยู่ในกลุ่มตลาดรถเพื่อการพาณิชย์

โดยรถยนต์นั่งขนาดเล็ก คาดว่าน่าจะได้อานิสงส์จากการที่รถยนต์คันแรกครบสัญญาถือครอง 5 ปี ในปี 2560 นี้ และอาจทำให้ผู้บริโภคบางส่วนถือโอกาสนี้ในการเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ ซึ่งปัจจุบันรถยนต์นั่งขนาดเล็กเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี ส่วนรถยนต์หรูสัญชาติตะวันตก เป็นประเภทรถที่นอกจากจะไม่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่หดตัวแล้ว ปัจจุบันยังมีบางค่ายที่เพิ่มไลน์การประกอบรถบางรุ่นในประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้มีการนำระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาติดตั้งเพิ่มในรถยนต์ ทำให้ราคาขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยต่ำลงด้วย ซึ่งนับเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจมาก ในขณะที่รถปิกอัพ เป็นอีกกลุ่มที่คาดว่าจะมีสัญญาณการเติบโตของตลาดมากขึ้นในปี 2560 โดยราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น รวมถึงโครงการภาครัฐและเอกชนหลายโครงการที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีนี้และที่จะเริ่มในปีหน้า ทำให้ความต้องการใช้รถปิกอัพน่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะส่งผลให้ตลาดรถยนต์นั่งโดยรวมในปี 2560 ของไทยมีทิศทางที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 2 ถึง 6 คิดเป็นจำนวนยอดขายรถยนต์นั่งประมาณ 331,000 ถึง 344,000 คัน เพิ่มขึ้นกว่าปี 2559 ที่คาดว่าจะปิดตัวเลขรถยนต์นั่งที่ประมาณ 325,000 คัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่หดตัวกว่าปีก่อนหน้ากว่าร้อยละ 9 ส่วนตลาดรถเพื่อการพาณิชย์โดยรวมในปี 2560 ของไทยมีทิศทางที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 3 ถึง 7 คิดเป็นจำนวนยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์ประมาณ 439,000 ถึง 456,000 คัน เพิ่มขึ้นกว่าปี 2559 ที่คาดว่าจะปิดตัวเลขที่ประมาณ 428,000 คัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่หดตัวกว่าปีก่อนหน้ากว่าร้อยละ 4

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ควรที่จะดูทิศทางตลาดรถยนต์ในแต่ละภูมิภาคประกอบด้วย เนื่องจากแม้ว่าตลาดรถยนต์โดยรวมจะมีทิศทางที่ขยายตัว แต่ระดับการขยายตัวของตลาดแต่ละส่วนนั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยบวกลบที่เกื้อหนุน โดยในปี 2560 นี้ คาดว่า ภาคตะวันออกจะเป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวของยอดขายรถยนต์สูงสุดทั้งในส่วนของรถยนต์นั่งและรถเพื่อการพาณิชย์ โดยปัจจัยบวกหลักมาจากการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ถึง 3 ปีนับจากนี้ หลังภาครัฐผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจในหลายๆ ด้านแบบก้าวกระโดด

ส่วนภาคอีสาน ภาคตะวันตก และภาคใต้ มีโอกาสที่รถเพื่อการพาณิชย์จะขยายตัวได้ดีกว่ารถยนต์นั่งค่อนข้างมาก จากการกลับมาฟื้นตัวของราคาขายสินค้าเกษตรบางรายการ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอ้อย รวมไปถึงโครงการภาครัฐเพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคด้านการขนส่งที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ด้านตลาดรถยนต์นั่ง คาดว่าพื้นที่ภาคใต้และภาคเหนือ จะมีโอกาสขยายตัวได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น เนื่องจากการปรับเพิ่มขึ้นของรายได้ทั้งจากภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว ส่วนตลาดกรุงเทพฯ ได้รับอานิสงส์จากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ส่งผลให้ตลาดรถรวมโตขึ้นทั้งรถยนต์นั่งและรถเพื่อการพาณิชย์ อย่างไรก็ตามในส่วนภาคกลาง ตลาดรถยนต์อาจจะมีแรงสนับสนุนตลาดน้อยกว่าภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะจากรายได้ภาคเกษตรที่ยังไม่ฟื้นตัว

นอกเหนือจากที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจะมีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้เหมาะสมต่อความต้องการของตลาดในแต่ละประเภทรถ และภูมิภาคแล้ว สิ่งหนึ่งที่ธุรกิจอาจต้องคำนึงถึงมากในโลกยุคปัจจุบัน คือ การที่ผู้บริโภคสามารถรับรู้ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายผ่านทางสื่อเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ และสื่อต่างๆ ดังกล่าวยังมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์หรือการเลือกเข้าใช้บริการด้วย ซึ่งในด้านที่ดี ผู้ประกอบการอาจใช้เป็นช่องทางในการกระตุ้นผู้บริโภคให้มีการรับรู้ถึงสินค้าของตนได้อย่างสม่ำเสมอ ทว่าในอีกด้าน หากมีการนำสินค้าหรือบริการไปกล่าวถึงในทางไม่ดี ย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

ดังนั้นสิ่งสำคัญสำหรับค่ายรถยนต์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ดีลเลอร์รถยนต์ คือ การสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้บริโภค ทั้งต่อตัวรถยนต์ และบริการต่างๆ ที่ตามมาหลังการซื้อขายรถยนต์ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว ในช่วงเวลาที่ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะฟื้นตัว และเตรียมตัวที่จะก้าวเข้าสู่ยุคยานยนต์แห่งอนาคตในระยะอันใกล้นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ