นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มของการส่งออกไทยในเดือนธันวาคม 59 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 59 โดยคาดว่าตัวเลขการส่งออกจะสามารถขยายตัวได้ 0% หรือเป็นบวกได้เล็กน้อย จากการที่เป็นช่วงฤดูกาลที่มีการส่งออกมาก ทำให้การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าเพิ่มมากขึ้น และการย้ายฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภท อย่างเช่น ฮาร์ดดิสและโซลาร์เซลล์ ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น
โดยในภาพรวมของแนวโน้มการส่งออกในเดือนธันวาคมที่คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ส่งผลทำให้ตัวเลขการส่งออกรวมทั้งปี 59 เป็นไปตามประมาณการของธปท.ที่คาดว่าส่งออกจะติดลบ 0.6% ซึ่งติดลบน้อยลงจากประมาณการเดิมที่ติดลบ 2.5% โดยตัวเลขการส่งออก 11 เดือนติดลบอยู่ที่ 0.5%
ส่วนในปี 60 ธปท.ได้ปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกมาอยู่ที่ 0% จากประมาณการเดิมที่ติดลบ 0.5% โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ามีจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ปริมาณสินค้าเกษตรที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากสถานการณ์ภัยแล้งได้ผ่านพ้นไปแล้ว และแนวโน้ของการส่งออกไปในประเทศจีนคาดว่าอาจจะมีปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากปีนี้ได้ แต่อาจจะเป็นการทยอยปรับตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศจีนยังเป็นการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวไทยในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ธปท.ประมาณการไว้ที่ 32.4 ล้านคน เป็น 32.5 ล้านคน เนื่องจากแนวโน้มของนักท่องเที่ยวชาวจีนในเดือนธันวาคมเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้น หลังจากในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้ปราบปรามทัวร์ผิดกฏหมายในช่วงก่อนหน้านี้ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนติดลบ 2 เดือนติดต่อกัน โดยในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนติดลบ 16.2% และ 30% ตามลำดับ ซึ่งธปท.มองว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาถือเป็นจุดต่ำสุดแล้ว และจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้นในเดือนธันวาคม
ทั้งนี้ในปี 60 ธปท.คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 34.1 ล้านคน ซึ่งแนวโน้มนักท่องเที่ยวจะค่อยๆทยอยกลับมาจากผลของมาตการรัฐเพื่อช่วยประคับประคองภาคการท่องเที่ยว และสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการทัวร์จีนและนักท่องเที่ยวชาวจีน อีกทั้งในช่วงต้นปียังเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งแนวโน้มของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยยังเพิ่มขึ้นต่อเนี่องจากไตรมาส 4/59
นายดอน กล่าวต่ออีกว่า ธปท.ยังคงประมาณกาอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 59 และ 60 อยู่ที่ 3.2% โดยมีปัจจัยหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าคาด รวมทั้งมาตรการภาครัฐที่ออกมาเพิ่มเติมช่วยชดเชยการลงทุนภาคเอกชนที่ยังชะลอตัวอยู่ในปี 59 แต่ในปี 60 แนวโน้มของการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการทยอยกลับมาดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป หากโครงการต่างๆที่เป็นการลงทุนภาครัฐเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชน อีกทั้งการที่ปัญหาภัยแล้งผ่านพ้นไปส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณเพิ่มขึ้นราคาสินค้าเกษตรยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการบริโภคที่เพิ่มขึ้น
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นและคาดว่าจะกลับสู่กรอบเป้าหมายในไตรมาส 1/60 โดยธปท.ประมารการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 60 อยู่ที่ 1.5% จากปีนี้อยู่ที่ 0.2% ซึ่งลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 2% ตามราคาอาหารสดที่ต่ำกว่าคาดอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงหลักจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด และความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินในปัจจุบันยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเหมาะสมต่อการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของไทย ซึ่งสามารถรับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ค่อนข้างดี แม้ว่าในปี 60 สถานการณ์ของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะเพิ่มขึ้นได้อีก แต่เป็นการเพิ่มขึ้นตามวัฏจักรของ NPL ที่จะเพิ่มขึ้นตามหลังภาวะที่ภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและเริ่มนิ่งในช่วง 2 ไตรมาสข้างหน้า